top of page

"Bcos Of Boss" พี่บอส ธรรมธรรศ-คุณครูแฟชั่นสุดเผ็ดแห่ง artHOUSE



BCOS OF BOSS

ธรรมธรรศ เลี้ยงธรรมรัตน์ หรือ พี่บอส

คุณครูผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักเรียนวิชา "Fashion Design" ที่สามารถครองที่นั่ง

"สาขาแฟชั่นและสิ่งทอ" ของมหาวิทยาลัยชั่นนำในประเทศไทยได้ถึง 9 ปีซ้อน

ด้วยสไตล์การสอนที่โดดเด่น แหวกแนว ที่ศิษย์เก่าทุกคนต่างยืนยันกันเป็นเสียงเดียวว่า

"ดุ เด็ด เผ็ด มันและถึงใจ"

ด้วยสไตล์การสอนที่โดเด่นและแหวกแนวนี่แหละที่เป็นแรงผลักดันให้นักเรียนสอบติด

และทำให้วิชา Fashion Design ของ artHOUSE เป็นที่จับตามองของนักเรียนที่สนใจใน Fashion Dsign

รุ่นใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา

หลายคนรู้จักพี่บอสแล้ว แต่หลายคนอยากรู้จักพี่บอสให้มากกว่านี้ พี่บอสเป็นใคร ทำอะไร

และมีเคล็ดลับหรือเทคนิคอะไรมาใช้ในการสอน

มาทำความรู้จัก(อย่างละเอียด)กับพี่บอสกันเลย

 

"บอส Happy กับลูกศิษย์มากตรงที่พวกเขาได้ทำงานอยู่ในแบรนด์ที่ดี องค์กรที่ดี แค่นี้ก็พอ ไม่ต้องมายกย่องให้เครดิตอะไรเรา บอสดีใจ ที่ได้เห็นพวกเขาประสบความสำเร็จในสิ่งที่เค้าเคยฝันไว้"

 

AMUNO : เรามาทำความรู้จักกันก่อนดีกว่า พี่บอสเป็นใคร ทำอะไรอยู่บ้างตอนนี้?

พี่บอส : ถ้าเป็นงานหลักๆเลยตอนนี้บอสเป็นเจ้าของแบรนด์ Him and Her ครับ เป็นพาร์ทเนอร์คู่กับพี่พลอยหอวัง ในส่วนนี้บอสดูแลในเรื่องของงานออกแบบไปจนถึงเรื่องการบริหารต่างๆภายในแบรนด์ เช่นการขาย โปรดักชั่น อะไรพวกนี้ แล้วก็มีงาน Illustration ใช้ชื่อว่า Bcos Of Brush เป็นงานอดิเรกครับ ซึ่งงานนี้มันพิเศษตรงที่เราจะวาดด้วยมือแล้วใช้เลเซอร์ลายนั้นลงบนแผ่นไม้อีกที ก็เป็นอีกเทคนิคนึงที่ลูกค้าสนใจครับ ทำเป็นของฝากบ้างหรือทำเป็นของขวัญบ้าง แล้วบอสก็ยังมี Project ที่เกี่ยวกับแฟชั่นอีกมากมายที่ทำอยู่ในตอนนี้ แต่ยังเปิดเผยไม่ได้



(ผลงาน Illustration ของพี่บอส ใช้ชื่อนามปากกาว่า Bcos Of Brush )

AMUNO : รู้ตัวว่าชอบแฟชั่นตอนไหน?

พี่บอส : บอสชอบวาดรูป ชอบงานศิลปะ มาตั้งแต่เด็กๆเลยครับ ตอนเด็กๆก็จะวาดรูปส่งเข้าประกวดอยู่เรื่อยๆพอเข้า ม.3 ม.4 ก็มาเรียนดรออิ้งกับพี่เบิร์นที่ artHOUSE นี่แหละ บังเอิญตอนนั้นพี่เบิร์นทำแบรนด์เสื้อผ้าพอดี ชื่อว่า RED DUST บวกกับรุ่นพี่ของบอสสมัยมัธยมเขาก็ไปเป็นเด็กแฟชั่นจุฬาฯด้วย ตอนนั้นเราเป็นเด็กต่างจังหวัดเราก็ไม่รู้หรอกว่าเราจะต้องเริ่มต้นอย่างไร ว่าจะทำได้ไหม แต่พอเราดูๆไปเราก็รู้สึกว่า เห้ย! มันทำได้! ก็เลยมุ่งมาทางนี้เลย ระหว่างทางตรงนั้นเราก็รู้สึกได้ว่าเราชอบ เราอินกับคำว่า Fashion จริงๆ เราศึกษามันอย่างจริงๆจังๆ แล้วเวลาที่เราได้ดูหรือได้อ่านนิตยสารแฟชั่นอะไรพวกนี้เรารู้สึกสนุก ช่วง ม.4 ม.5 บอสก็เลยตั้งใจมาทางนี้เลย แล้วก็สอบติดที่จุฬาฯครับ


(ผลงาน Illustration ของพี่บอส ใช้ชื่อนามปากกาว่า Becos Of Brush )

AMUNO : ตอนนั้นเรียนแฟชั่นที่จุฬาฯคิดไว้ว่าอนาคตจะทำอะไร?

พี่บอส : อนาคตตอนนั้นหรอ...อืม ถ้าคนที่ไม่เคยเรียนแฟชั่น หรือในมุมมองจากคนนอกเขาจะคิดว่า เรียนจบแฟชั่นมาแล้วจะต้องเป็นแค่ Fashion Design หรือต้องทำแบรนด์เสื้อผ้าอะไรแบบนั้น แต่สำหรับบอสๆไม่ได้คิดลึกซึ้ง บอสคิดว่าเราทำตอนนี้ทำปัจจุบันนี้ของเราให้ดีที่สุดก่อนจะดีกว่า ตั้งใจเรียน ทำงานเต็มที่ งานประกวดก็ทำ แล้วตอนเรียนจบมันจะเบี่ยงเราไปเส้นทางไหนมันก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าถามว่าเราอยากเป็นเจ้าของแบรนด์ไหม มันก็ต้องอยากอยู่แล้วแหละ แต่ตอนเรียนเราไม่รู้หรอกว่าการทำธุรกิจแฟชั่นมันเป็นอย่างไร เราคิดแค่ว่าจะเป็นนักออกแบบที่ดี ออกแบบเสื้อผ้าที่สวยก็แค่นั้น แต่การที่เราอยากมีแบรนด์ของตัวเราเองเราก็รู้ว่าตอนนั้นเรายังไม่พร้อม ก็เลยไปสมัครงานก่อน ก็คิดว่าถ้ามันพร้อมหรือจังหวะชีวิตมันได้มันก็จะมาของมันเองแล้วมันก็มาเองจริงๆประมาณนั้น


AMUNO : เป็นนักเรียนทุน Fashion ไปปารีสด้วย?

พี่บอส : ช่าย บอสได้ทุนไปปารีสตอนอยู่ประมาณ ปี3 หรือ ปี4นี่แหละ.. สักปีอ่ะ ไม่แน่ใจจบมานานละ(หัวเราะ) ทุนที่ได้เป็นทุนที่กระทรวงวัฒนธรรมกับสถานทูตฝรั่งเศสจับมือกันว่าจะให้ทุนเด็กสองคนในประเทศไทยไปศึกษาที่นั่นพร้อมกับฝึกงานที่นั่นด้วย โดยให้โควตาเด็กที่เรียนปริญญาตรีแฟชั่นหนึ่งคน และเด็กปริญญาโทแฟชั่นอีกหนึ่งคน ซึ่งในรุ่นปริญญาตรีคนที่ได้เป็นรุ่นน้องบอสก็เลยต้องไปแข่งในรุ่นปริญญาโท ซึ่งพีคมากจริงๆ(หัวเราะ) เพราะเราอยากไปมากๆ เราก็เลยทุ่มสุดตัวเลยตอนนั้น แต่ด้วยความที่เราเป็นเด็กกิจกรรม เป็นเด็กทำงานประกวดมาตลอด เรามีรางวัล มีผลงานเยอะแยะมากมาย ใบเบิกทางของเราก็เยอะ เราก็เลยได้ทุนนี้มา ก็ได้ไปเรียนที่ปารีสครับ แม้ว่ามันจะเป็นช่วงเวลาไม่นานมากประมาณ 6-7 เดือนที่เราอยู่ที่นั่นมันก็เป็นช่วงเวลาที่ดีมากๆ เราได้เรียนในโรงเรียนที่สอนแฟชั่นและงานออกแบบชื่อว่า “ECOLE DES ART DECORATIVE” ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนแฟชั่นและงานออกแบบที่ดีที่สุดในปารีส มีโอกาสได้ฝึกงานในแบรนด์แฟชั่นของปารีสชื่อว่า “GASPARD YUKEIVICH” ซึ่งในยุคนั้นเขาก็ดังมากในปารีส ที่สำคัญเลยคือเราได้ใช้ชีวิตอยู่ใจกลางกรุงปารีสเลย ได้เห็นผู้คน ได้เรียนรู้วัฒนธรรมทั้งหมด ซึ่งมันก็ดีมาก ยังรู้สึกประทับใจมากๆมาจนถึงทุกวันนี้


AMUNO : ประทับใจขนาดนี้ เคยคิดว่าเรียนจบในไทยแล้วอยากไปเรียนต่อเมืองนอกไหม?

พี่บอส : ถามว่าบอสชอบเมืองนอกไหม? ชอบครับ แต่บอสชอบประเทศไทยมากกว่า

พอกลับมาที่ไทยก็มาเรียนต่อ มาทำ Thesis ตัวจบ ตอนระหว่างที่ทำ Thesis เนี่ย เราก็ดันได้งานที่ แบรนด์เสื้อผ้าชื่อ “The Only Son” ในตำแหน่งผู้ช่วยดีไซเนอร์ ก็เลยทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยประมาณนั้น พอเรียนจบมาก็มาเป็นจูเนียร์ดีไซเนอร์อยู่ The Only Son อยู่ 3ปี ตอนนั้นก็มีแพลนว่าจะไปเรียนต่อที่นิวยอร์ก ก็เลยออกมา แต่หลังจากที่ออกมาก็มีงานฟรีแลนซ์เข้ามาเยอะมาก มีทำ Illustrater ให้ CHANEL ให้นิตยสาร VOGUE หรือว่าอะไรแบบนี้เยอะแยะมาก บวกกับตอนนั้นพี่พลอยหอวังก็ชวนให้มาช่วยดูแบรนด์ Him and Her ให้หน่อย ตอนนั้นก็เข้าไปช่วยๆดู ก็เลยเล็งเห็นว่า จริงๆแล้วเราจำเป็นต้องไปเรียนต่อหรอ? นี่ก็เป็นจุดเปลี่ยนนึงเลย คือถ้าบอสไปเรียนเมืองนอกชีวิตบอสก็อาจจะเป็นอีกแบบนึ่ง แต่ในเมื่อเราก็อยากอยู่ประเทศไทย ท้ายที่สุดแล้วเราก็ต้องทำการตลาดอยูในประเทศไทย เราจะเอาเงินที่จะไปเรียนตรงนั้นมาลงทุนตรงนี้ แล้วมาเรียนรู้ข้อผิดพลาดในสนามรบจริงดีกว่าไหมอะไรแบบนี้ ถามว่าเรียนต่อดีไหม มันดีเพราะเราได้เรียนรู้อะไรทั้งหมด แต่สุดท้ายเมื่อเรากับมาไทยเราก็ต้องมาเรียนรู้ มาสร้างอะไรใหม่หมดอยู่ดี ตอนนี้เรามีโอกาสแล้ว เรามีสนามจริงให้ลงแล้ว เราจะลงไหม ก็เลยตัดสินใจว่ามาลงทุนทำแบรนด์ดีกว่า บวกกับตอนนั้นพี่พลอยกำลังจะเปลี่ยนพาร์ทเนอร์ด้วยก็เลยให้มาดูแล

Him and Her ด้วยกันเลย ก็เลยอยู่มาถึงตอนนี้เนี่ยแหละ




AMUNO : ได้ยินพี่บอสพูดเรื่องการเป็นเด็กประกวดผลงานและการฝึกงานด้วย แชร์ประสบการณ์ของพี่ให้ฟังหน่อย

พี่บอส : พูดเรื่องฝึกงานก่อน..บอสฝึกงานเยอะมาก ตั้งแต่เรียนปีหนึ่งบอสก็ไปขอฝึกงานที่ GREYHOUND แล้ว ตอนปีสองก็ไปฝึกกับสไตลิสต์นั่นก็คือพี่จอย อนันดา แล้วก็มาฝึกกับอาจารย์ต่าย แบรนด์ T-RA ซึ่งก็เป็นอาจารย์ที่จุฬาฯด้วย ตอนปีสามบอสฝึกงานกับพี่ใหม่ที่แบรนด์ REALISTIC แล้วตอนอยู่ที่ปารีสก็ฝึกงานที่ GASPARD YUKEIVICH ด้วย


การฝึกงานมันเป็นอะไรที่ดีมาก มันดีตรงที่เราได้เห็นสนามการทำงานจริงและได้เรียนรู้วิธีการตัดสินใจจริงๆ ซึ่งคนที่จะทำงานมันต้องมีการมองออกหรือตัดสินใจเด็ดขาดเวลาจะทำอะไร การเรียงลำดับความสำคัญรวมไปถึงการต่อรองในการทำงานเพื่อให้ได้ในสิ่งที่เราต้องการ รวมไปถึงการทำงานอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ตามที่เราตั้งเป้าไว้อะไรแบบนี้ ซึ่งมันก็จะฝึกวินัยและฝึกการเข้าหาคนและการสื่อสารให้ได้ในสิ่งที่เราต้องการด้วย บอสเห็นมาทุกกระบวนการตั้งแต่เห็นการทำโปรดักชั่นตอนฝึกกับ GREYHOUND เห็นการสไตลิสต์กับพี่จอย อนันดา ทำเสื้อผ้าแบบเฟมินีน (feminine เสื้อผ้าผู้หญิง) ตอนอยู่กับพี่ต่ายธีระ หรือจะทำเสื้อผ้าแบบ creative ไปเลยกับพี่ใหม่ที่ REALISTIC ตอนอยู่ปารีสก็ตรงช่วง PARIS Fashion Week พอดีก็ได้ทำงานตรงนั้นด้วย ซึ่งมันดีมากจริงๆ



ส่วนเรื่องการเป็นเด็กประกวดผลงาน คือต้องบอกว่าการเป็นเด็กประกวดมันดีอ่ะ สนุก เร้าใจดี (หัวเราะ) บอสพยายามบอกให้เด็กๆทุกคนทำ เพราะว่าการประกวดมันคือเวทีแสดงพลังของเรา มันคือเวทีที่สร้างขึ้นมาเพื่อประกาศให้ทุกคนรู้ว่านี่คือผลงานฉัน การประกวดเป็นอะไรที่สนุก และได้อะไรกลับมาเยอะ เพราะการประกวดมันคือการตีโจทย์ ว่าโจทย์ที่ได้มาคืออะไรแล้วเราจะตีความมันออกมาในมุมไหน เล่าเรื่องผ่านเสื้อผ้าอย่างไรให้น่าสนใจ ทำอย่างไรให้ชนะหรือได้เงินรางวัล(หัวเราะ) อะไรประมาณนั้น ซึ่งมันก็จะได้เรียนรู้คำว่าแพ้-ชนะ บอสไม่ได้ชนะทุกเวที เวทีที่แพ้มันก็จะสอนให้เราเห็นช่องว่างที่ควรเติมเต็มในงานของเรา เวทีที่ชนะมันก็จะสอนให้เราได้เข้าใจอะไรๆมากขึ้น และที่สำคัญเลยก็คือบอสได้เพื่อนใหม่เยอะแยะมากจากการทำชุดประกวด ซึ่งเราก็คบเป็นเพื่อนกันอยู่มาจนถึงทุกวันนี้



AMUNO : รู้จักที่มาที่ไปของพี่บอสพอสมควรแล้ว มีผลงานและประสบการณ์แน่นมากจริงๆ ทีนี้อยากรู้ว่าพี่บอสเข้ามาเป็นพี่ติวได้อย่างไร?

พี่บอส : จริงๆแล้วบอสมีคุณครูคู่หูด้วยอีกคนนึง นั่นก็คือ “พี่เอ็ด” ที่ตอนนี้อยู่ปารีส เริ่มแรกเลยคือตอนปีหนึ่งบอสก็เริ่มรับติวน้องแล้ว มีน้องมัธยมมาขอให้ติวให้ก็ติวๆไป ซึ่งตอนนั้นพี่เอ็ดอยู่ปีสองเค้าก็รับติวน้องเหมือนกัน พอได้พูดคุยกันมาสักพักจนเริ่มสนิทกันก็เลยอ่ะ! มาติวด้วยกันมั้ย หลังจากนั้นก็เลยกลายเป็นคู่หูดูโอ้ติวมาคู่กันตั้งแต่ตอนนั้นมา พอบอสอยู่ประมาณปีสอง พี่กีฟก็มาชวนให้มาสอนที่อาร์ทเฮ้า ก็เริ่มสอนที่นี่มาตั้งแต่ตอนนั้น


(พี่บอส-พี่เอ็ด และน้องๆในคลาส Fashion Design)

ก่อนเข้ามาสอนที่ artHOUSE ก็อยากนิดนึง ด้วยความที่เราสองคน ก็มีความเป็นดีไซเนอร์จ๋ากันมากๆ เหมือนไฟนักออกแบบมันกำลังแรงไง บวกกับความคิดความอ่านเราทั้งคู่ก็ยังเด็ก การพูดการจา ความคิดความอ่านการตัดใจ มันก็เหมือนเด็กๆเค้าคิดกันได้มิติเดียว แต่พอเราเข้ามาสอนในโรงเรียน เราก็รู้สึกว่า เออ ที่นี่มันคือโรงเรียนนะ มีทีมที่สอนวาดฟิกเกอร์ มีการสร้างระบบอะไรเกิดขึ้นมาแล้ว เราก็โฟกัสได้มากขึ้นละว่าเราจะต้องสอนอะไร เราก็เริ่มคิด แจกแจงออกมาละว่าเราจะสอนอะไร ให้มันเข้าระบบระเบียบมากขึ้น แต่ในปีแรกๆมันก็ยากนิดนึงเพราะตอนนั้นเราก็ยังไม่มีผลงาน ยังเป็นแค่นิสิตแฟชั่น แล้วก็สอนกันด้วยใจโดยที่ยังไม่คิดว่าผลลัพธ์มันจะออกมาเป็นยังไง สอนเพราะรักอย่างเดียวเลย ด้วยความที่ตอนนั้นเราก็ยังเป็นเด็กมหาวิทยาลัยนี่แหละ เราก็มองการสอนว่าเหมือนรุ่นพี่รุ่นน้องสอนกัน ดังนั้นเวลาที่เราพูดคุยกันมันก็ค่อนข้างรุนแรง ตรงๆ แบบพี่น้องเตือนกัน ซึ่งในช่วงนั้นถ้าไปถามเด็กที่เคยเรียนมากับพวกบอสก็จะรู้ว่ามันเผ็ดมาก มันมาก มันดุเดือดมากอะไรแบบนั้น แต่พอเราโตขึ้นมาระยะห่างระหว่างเรากับเด็กมันก็ยิ่งมากขึ้น สภาพสังคมเปลี่ยนไป โลกออนไลน์เปลี่ยนไปเราก็เริ่มเรียนรู้ตัวเองมากขึ้น


(พี่บอส-พี่เอ็ด และน้องๆในคลาส Fashion Design)

AMUNO : ที่บอกว่าเผ็ดกับมันมากเนี่ย มันเป็นยังไง เล่าหน่อยๆ

พี่บอส : (หัวเราะดังมาก) ก็มันอ่ะ มันมากเลย บอกตรงนี้เลยว่าเสียดายแทนน้องรุ่นใหม่ๆที่พวกบอสแก่แล้ว(หัวเราะ) คือเมื่อก่อนมันเผ็ดมากจริงๆนะ (มันเผ็ดขนาดไหน?) ขนาดไหนหรอ ก็ขนาดที่มีเด็กร้องไห้ทุกปีอ่ะ แต่ที่เราพูดรุนแรงเนี่ยมันก็คือการกระตุ้น กระตุ้นตัวพวกเค้าให้รักกัน เปิดแง่คิดเค้าในอีกมุมมองหนึ่งว่าทำแบบนี้มันผิดกับตัวเองไหม ทำแบบนี้มันมีเอฟเฟคถึงใคร หรือบางทีเราก็สร้างสถานการณ์ที่ตึงเครียดขึ้นมาเพื่อบีบให้ทุกอย่างมันดุเดือดมากขึ้น แล้วพวกเค้าก็ต้องขุดตัวเองขึ้นมาแล้วเอาชนะสถานการณ์ตรงนั้นให้ได้อะไรแบบเนี้ย ถามว่าทำไมมันต้องเผ็ด? ทำไมต้องดุเดือด? เพราะเรารู้ว่าในห้องสอบจริงๆมันเครียดมาก ต่อให้วาดสวยงามขนาดไหนแต่ถ้าหนูจัดการกับความเครียดของตัวเองไม่ได้เนี่ย ก็พังไง ดังนั้นเด็กที่รับรู้ได้ตอนนั้นก็คือความเครียดในห้อง แต่เครียดในที่นี้ไม่ได้ถึงขนาดคอขาดบาดตาย แต่เราก็มีวิธีทำให้เค้ารู้ว่าต้องทำตัวยังไง แล้วมีอะไรจำกัดบ้าง ซึ่งเด็กที่ทนได้ก็มี หรือเลิกเรียนไปเลยทั้งคลาสเลยก็มี(หัวเราะ) ซึ่งเจตนาเรามันไม่ใช่ไม่ดีนะ มันดี แต่เหมือนพ่อแม่ตีลูกอ่ะ พ่อแม่ตีลูกไม่ใช่ไม่รัก รักจ่ะ แต่มันต้องตีเพราะหนูทำผิด มันต้องตีเพื่อให้หนูเดินไปในทางที่ถูก มันต้องตีเพื่อสอนว่าสิ่งที่หนูทำตรงเนี้ยมันยังไม่ใช่ ดังนั้นการขยำงานหรือการฉีกงานน้องมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในคลาส และมันก็คือการจัดฉาก ซึ่งบอสบอกเลยว่า พวกบอสเคารพในงานมาก แต่ถามว่าเคารพแล้วทำไมต้องขยำต้องฉีกงานทิ้ง ก็เพื่อให้เค้าได้บทเรียนว่าจริงๆ แล้วเค้าไม่ควรต้องขยำงานตัวเอง หนูไม่มีสิทธิ์ที่จะสร้างสรรค์งานออกมาแล้วขยำมันทิ้ง(ทำชุ่ยๆแล้วทิ้ง ทำชุ่ยๆแล้วทิ้ง) ดังนั้นก่อนที่จะทำมันเสร็จคือหนูต้องคิดว่ามันต้องดีที่สุดแล้วจริงๆ ขยำเพื่อเค้าจะได้จำว่าความรู้สึกนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก


(บรรยากาศในคลาส Fashion Design)

AMUNO : มันจะมีคำถามนึงที่เกิดขึ้นคือ “แค่เรียนพิเศษทำไมต้องจริงจังขนาดนั้น?” พี่บอสคิดว่ายังไง?

พี่บอส : อย่ามองว่า “แค่” สิ่ การติวคนให้สอบติดไม่ใช่เรื่อง “แค่” สำหรับพี่ติวนะ

ประเด็นพวกนี้ ถ้าคนนอกมองเค้าจะบอกว่า “สอนแรงมากเลย” หรืออาจจะถามว่า “สอนแรงไปไหมมึง?” แต่ใจจริงบอสและพี่เอ็ดกลับมองว่า “ไม่” เราอยากให้พวกเค้าจำว่าทำไมงานคุณถึงโดนขยำ แล้วทำไมคุณถึงต้องขยำงานตัวเอง แต่อีกมุมนึงก็เป็นการสอนเพื่อนๆของเค้าไปในตัวด้วยว่า “เป็นเพราะเธอไม่รับผิดชอบไง และนี่คือเอฟเฟคว่าการที่เธอไม่รับผิดชอบมันไม่ได้มีเอฟเฟคแค่กับเธอคนเดียว แต่มันมีเอฟเฟคไปถึงเพื่อนร่วมคลาส มีเอฟเฟคไปถึงอาจารย์และไปถึงพ่อแม่เธอด้วย” ดังนั้นถ้าไม่ทำการบ้านมาหรือทำการบ้านไม่เสร็จ เราก็จะให้เพื่อนอีกคนฉีกงานเลยไม่ให้มานั่งทำต่อในคลาส ทีนี้เค้าก็จะรู้ว่าความรับชอบมันสื่อไปถึงตรงไหน ไม่ได้มีเธออยู่คนเดียวบนโลกใบนี้นะ ยังมีอีกหลายคนที่อยู่รอบตัวเธอนะอะไรแบบนี้ ดังนั้นเธอจะมาทำตัวเป็นหมาตายลอยน้ำ(ไปเรื่อยๆ ไปคนเดียว ไม่สนใคร)แบบนี้ไปเรื่อยๆไม่ได้ แต่บางทีมันก็อาจจะเลยจุดที่มันควบคุมไม่ได้ หรือว่าเด็กๆเค้าก็อาจจะไม่ได้โตเท่าเรา ซึ่งตรงนี้เราก็อาจจะลืมคิด มันก็เลยกลายเป็นเหตุการณ์ที่เลยเถิดไปจนทำให้เด็กไม่เข้าใจว่าทำไมพี่ถึงพูดจาแบบนี้ ทำไมหนูต้องขยำงานเพื่อน แล้วทำไมพี่ต้องฉีกงานหนู แต่เค้าไม่เคยมองย้อนไปเลยว่าโดนฉีกงานเพราะอะไร น้องโดนทำแบบนี้ เพราะน้องทำผิดเรื่องนี้ซ้ำๆมารอบที่สิบแล้วน้องไม่เคยจำ... แต่พอพวกบอสได้เรียนรู้มากขึ้น พวกเราโตขึ้น บวกกับสภาพสังคมโลกที่มันหมุนเปลี่ยนไป บทลงโทษของเราก็เลย creative ขึ้น เช่น ให้ไปยืนถือผลงานแล้วตะโกนอยู่ริมถนนหน้าโรงเรียนแทนอะไรแบบนี้(หัวเราะ) คือมันก็จะซอฟลงไปตามกาลเวลา เหมือนระบบรับน้องนั่นแหละที่ทำไมเมื่อก่อนถึงโหดร้ายและรุนแรง แต่มันได้ใจจริงๆ แต่ปัจจุบันมันก็ต้องปรับให้เบาลงเพราะมันก็มีเด็กที่รับได้และไม่ได้อะไรแบบนี้



AMUNO : มีเคล็ดลับไหม?

พี่บอส : เคล็ดลับอะไร?

AMUNO : เคล็ดลับในการสอนไง artHOUSE ส่งเด็กสอบติด Fashion Dsign ของมหาวิทยาลัยดังๆทุกปี ก็เลยต้องถามพี่ติวว่ามีเคล็ดลับในการสอนอย่างไร?

พี่บอส : อืม..บอสสอนให้เค้าเดินเป็น รู้ได้ด้วยตัวเอง ตัดสินใจด้วยตัวเองเป็น รู้ว่ามาตรฐานของตัวเองอยู่เท่าไหนและก็ทำมันได้แค่นั้นแหละ ไม่มีเคล็ดลับเลยนะว่าทำแบบนี้ 1 2 3 4 ปึ้ง! เก่งเลย ไม่ใช่... สำหรับบอสคิดว่ามันอยู่ประสบการณ์ที่เราสั่งสมมาตั้งแต่ต้น จากการใช้ชีวิต จากการพบเจอคน จากการได้เข้าสังคมมันก็ทำให้เราเข้าใจคนและรู้ว่าจะต้องเข้าหาน้องแต่ละคนแบบไหนซึ่งแต่ละคนมันก็ต้องเข้าหาไม่เหมือนกัน พอเราดูเรารู้เลยว่า เฮ้ย! เด็กคนนี้กำลังมีปัญหาเรื่องนี้นะ เด็กคนนี้ไม่เข้าใจเรื่องนี้ เด็กคนนี้ทำตรงนี้ไม่ได้เพราะอะไร “ตรงนี้คือประสบการณ์ส่วนตัวล้วนๆ” ที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบกันได้ง่ายๆ

การเป็นคุณครูของบอสคือต้องอ่านใจเด็กครึ่งนึงและคิดนำไปก่อนเด็กอีกครึ่งนึง ต้องรู้ว่าตอนนี้เค้ามีปัญหาแบบนี้ก็ต้องช่วยหาทางแก้ให้เค้า ซึ่งมันก็คือประสบการณ์ล้วนๆนั่นแหละ ซึ่งบอสก็ต้องขอขอบคุณเด็กๆในรุ่นที่ผ่านมามากๆ ที่ได้สร้างสรรค์ประสบการณ์แปลกใหม่ไว้ให้บอสเยอะมากมายเหลือเกิน เหลือเกินจริงๆ(หัวเราะ)


(พี่บอส-พี่เอ็ด กับลูกศิษย์วิชา Fashion Design รุ่นแรกที่จุฬาฯรับเพียง 5 ที่นั่ง

และ artHOUSE สามารถครองได้ทั้ง 5 ที่นั่ง - พี่อุ้ง พี่แทน พี่มาร์ค พี่มิกิ และพี่ลูกศูร )

AMUNO : ผ่านอะไรกับน้องๆมาเยอะ ตอนที่พวกเขาสอบติดพี่รู้สึกอย่างไรบ้าง

พี่บอส : น้องๆสอบติดได้เยอะมากงงไปหมด(หัวเราะ) เราไม่ได้อวดอ้างสรรพคุณอะไรเลยนะว่าเราสอนดีกว่าใครๆ สำหรับบอสคือทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แล้วก็ไม่เคยมาซีเรียสนะว่าเด็กของเราจะต้องสอบติดเยอะกว่าที่อื่น แต่บอสรู้สึกว่านี่คือผลลัพธ์ของความเหนื่อย ซึ่งใครเหนื่อย? บอสไม่ได้เหนื่อยเลย น้องๆต่างหากที่เค้าเหนื่อย เค้าอดทนได้ แล้วพวกเค้าก็ทำมันสำเร็จ มีอยู่ปีนึง จุฬาฯรับ 15 คน เราติดไปเลยเต็มๆ 15 คนก็มี บางปีติด 20 ติด 13 ติด 17 เรียกได้ว่าสอบติดเกินครึ่งทุกปี ซึ่งเราแฮปปี้ แฮปปี้มาก มันเหมือนเราปลุกต้นไม้นั่นแหละ เราดีใจอยู่แล้วที่เห็นมันโตขึ้น เรามีหน้าที่ใส่ปุ๋ย พรวนดิน แล้วก็ตัดแต่งกิ่ง แต่สุดท้ายแล้วหน้าที่ในการเจริญเติบโต ดันตัวเองให้พ้นจากดินขึ้นมาเพื่อแตกกิ่งก้านสาขา ผลิดอกและออกผล มันคือหน้าที่ของเมล็ดหรือต้นไม้นั้นๆ ถามว่าเรารู้ไหมว่ากว่าเขาจะดันตัวเองให้พ้นมาจากดินมันเหนื่อย เรารู้ รู้อยู่เต็มอก เราเฝ้าดูตลอด เราถึงแฮปปี้ไงตอนที่เค้าโตจากเมล็ดมาเป็นต้นได้

สำหรับบอสคือติดหรือไม่ติดไม่เป็นไร แต่บอสอยากเห็นเค้าเติบโต ไอ้สิ่งนี้แหละมันดีมากเลยนะ มันดีเหลือเกินจริงๆ ยกตัวอย่างน้องคนหนึ่งสอบไม่ติด บางคนพอสอบไม่ติดปุ๊ป! ดับฝันตัวเองเลยนะ คิดฟุ้งซ่านไปเรื่อย เราไม่เหมาะกับแฟชั่นบ้างหล่ะ เราวาดรูปไม่เก่งบ้างหล่ะ โน่นนี่นั่นล้านแปด แต่น้องคนนี้ไม่ใช่แบบนั้น พอสอบมหาวิทยาลัยรัฐบาลไม่ติดน้องก็ไปเข้าแฟชั่นม.กรุงเทพเลย ซึ่งตอนนี้คืองานเค้าไปไกลมากๆ งานประกวดก็ชนะระดับประเทศ มีผลงานอัพเดทขึ้นมาเรื่อยๆเลย เก่งมากๆ เนี่ยจึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าทีมคุณครูทุกคนใน artHOUSE เต็มที่กับการเรียนการสอนจริง แต่พวกเราไม่ได้มาซีเรียสว่าจะติดไม่ติด แต่พวกเราทำให้เห็นถึงต้นกล้าที่แข็งแรง ถ้ารากแข็งแรงต้นก็แข็งแรง เราคือคนที่สร้างราก เราใส่ข้อมูลของเราไปให้เค้า ใส่การใฝ่รู้ใฝ่เรียน ใส่ความรับผิดชอบ ใส่ความอดทนต่อสถานการณ์หรืออีกมากมายหลาย และจากจุดเริ่มต้นที่พวกเค้าเริ่มมาจากเรา ในส่วนนี้มันคงติดกับตัวเค้าไปเรื่อยๆแล้วมันก็ทำให้ตัวเค้าได้เติบโตมาเป็นแบบนี้ เด็ก artHOUSE ทุกคนเป็นแบบนี้ ซึ่งพวกเราภูมิใจมาก ภูมิใจมากจริงๆ


(พี่บอส-พี่เอ็ด และน้องๆในคลาส Fashion Design)

AMUNO : ต้องบอกว่าเรื่องที่บอสเล่าทั้งสนุก ทั้งเข้มข้น และให้แง่คิดใหม่ๆเยอะมาก ถ้าจะให้พี่บอสพูดอะไรก็ได้เพื่อจบบทสัมภาษณ์ พี่บอสจะพูดเรื่องอะไร?

พี่บอส : อืม..

พูดเรื่องอะไรดีหล่ะ?..

พูดเรื่อง Fashion นี่แหละ สั้นๆ อ่ะ!

(อ่ะเริ่ม!) “สำหรับบอสแล้ว Fashion ไม่ใช่แค่เสื้อผ้า แต่มันคือการใช้ชีวิตและสิ่งที่อยู่รอบๆตัวเรา เช่น อาหาร สถานที่ท่องเที่ยว บทเพลง วลีหรือคำพูดต่างๆ แต่ถ้าให้บอสพูดถึง Fashion ในมุมมองของบอสที่เป็น Designer บอสมองว่าชอบFashion ไม่ได้แปลว่าทำ Fashion ได้ คุณอาจจะแค่ชอบแต่งตัว คุณอาจจะแค่ชอบเสพงาน Fashion แต่คุณอาจจะไม่ได้อยากทำเสื้อผ้า ทุกคนที่เข้ามาในโลกของ Fashion ทุกคนได้แต่งตัว ทุกคนชอบ ทุกคนแฮปปี้ แต่ทุกคนอยากทำ Fashion หรือเปล่า? อันนี้ต้องลองถามตัวเองดู ต้องลองฝึกวาด ฝึกคิด ฝึกลองทำชุด ลองประดิดประดอยเอาวัสดุที่เหลือใช้มาทำ ถ้าเราชอบแปลว่าใช่ แต่ถ้าเราไม่ชอบอาจจะแปลว่าเรามีความสุขกับการเสพ Fashion หรือมีความสุขในโลกของเสื้อผ้า มากกว่าการมานั่งออกแบบ หรือมานั่งทำเสื้อผ้าครับ”

 

จากสไตล์การสอนที่ดุ เด็ด เผ็ด มัน ของพี่บอสและพี่เอ็ดนี้ ทำให้เราคิดถึงประโยคหนึ่งว่า

"ในเรื่องที่หนัก ยังมีเรื่องที่ดีรออยู่เสมอ"

เพราะเราเชื่อว่านักเรียนทุกคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่กดดันเกินกว่าที่วุฒิภาวะของพวกเขาจะรับมือไหว

มันเครียดและกดดันแค่ไหน แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือความอดทน ความพยายาม และความเชื่อมั่นในตัวพี่ติวในใจของพวกเขานั่นเอง ที่ทำให้พวกเค้าสามารถก้าวข้ามอุปสรรค์

และสอบติดในสาขาวิชาและมหาวิทยาลัยที่พวกเขาอยากเรียนกันได้

และจากสิ่งที่พี่บอสได้พูดไว้ว่า

“บอสไม่มีเคล็ดลับหรือเทคนิคอะไรเลย แต่บอสใช้ประสบการณ์ชีวิตของบอสในการสอนพวกเค้า”

สิ่งนี้แหละคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

เพราะเคล็ดลับหรือเทคนิคคือสิ่งที่คนเราสร้างขึ้นมาและสามารถถูกลอกเลียนแบบได้

แต่ประสบการณ์ชีวิตส่วนบุคคลนี้ถือเป็นผลงานที่มีคุณค่าและไม่สามารถลอกเลียนแบบกันได้ง่ายๆ

นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่นักเรียนวิชา "Fashion Design" ที่สามารถครองที่นั่ง"สาขาแฟชั่นและสิ่งทอ"

ของมหาวิทยาลัยชั่นนำในประเทศไทยได้ถึง 9 ปีซ้อน

จากเรื่องราวและการประสบความสำเร็จนี้

พี่บอสจึงเป็นคุณครูที่ artHOUSE และลูกศิษย์ทุกคนภาคถูมิใจ และคิดถึงพี่บอสอยู่เสมอ

 

FOLLOW NOW!


 

AMUNO

© Copy Right artHOUSE Institute, All Rights Reserved.

ไม่อนุญาติให้นำบทความไปดัดแปลง, เขียนใหม่, หรือนำไปเผยแพร่ในที่สาธารณะโดยไม่ใส่เครดิตหรือได้รับอนุญาติ

ดู 194 ครั้ง
bottom of page