“นิเทศศิลป์กับเรขศิลป์ต่างกันอย่างไร? เรียนเกี่ยวกับอะไร? ตอนสอบยากไหม? จบไปทำอะไร?”
คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่มีน้องๆมัธยมเข้ามาสอบถามที่ artHOUSE ทุกปี
เพื่อไขข้อสงสัย และถือเป็นการแนะแนวน้องๆไปพร้อมๆกัน
artHOUSE เลยจัด 2 รุ่นพี่ผู้มีประสบการณ์ตรงจาก ภาควิชานิเทศศิลป์และจากเอกเรขศิลป์ นั่นก็คือ
พี่ MM (เอ็มเอ็ม) ณัฐนรี โกสุม
นักศึกษาภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ชั้นปี 4 คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
คุณครูประจำวิชานิเทศศิลป์ artHOUSE
และ พี่มิ้นท์ เบญจามินทร์ เปี่ยมลือ
บัณฑิตย์จากเอกเรขศิลป์ ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คุณครูประจำวิชาเรขศิลป์ศิลป์ artHOUSE
มาช่วยไขข้อสงสัยและให้คำแนะนำเบื้องต้นให้กับน้องๆ
โดยรวบรวมคำถามที่พบบ่อยที่สุด เรียงลำดับดังต่อไปนี้
นิเทศศิลป์เรียนเกี่ยวกับอะไร? และ เรขศิลป์เรียนเกี่ยวกับอะไร? ต่างกันอย่างไร?
มิ้นท์ : จริงๆแล้ว นิเทศศิลป์ กับ เรขศิลป์ เรียนไม่ต่างกันนะคะ คือเรียนเกี่ยวกับการออกแบบสื่อสารด้วยสื่อต่างๆเพื่อให้บุคคลเข้าใจได้อย่างง่ายที่สุด โดยมากมักเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น โปสเตอร์, ใบปลิว, โฆษณา(Print Ads), แมกกาซีน(Magazin), หนังสือต่างๆ รวมถึงสัญลักษณ์สื่อสารตามสถานที่ เช่น ป้ายตามที่ต่างๆ, ป้ายบอกทาง, ป้ายห้องน้ำ, แผนที่ หรือสัญลักษณ์ที่ใช้ในองค์กรต่างๆ เช่น โลโก้บริษัท เป็นต้น สำหรับปัจจุบันมีการสอนสื่ออิเลคทรอนิกส์มากขึ้น เช่น การทำวิดิโอ, เว็บไซต์ รวมอยู่ในหลักสูตรด้วยอาจจะต่างกันตรงที่ ของศิลปากรจะเป็นงานศิลป์ๆไปเลย จะเด่นเรื่องลายเส้น การลงสี เป็นหลักค่ะ
MM : จริงๆแล้ว นิเทศศิลป์ และ เรขศิลป์ เป็นชื่อของภาควิชาค่ะ
ภาควิชานิเทศศิลป์ คณะมัฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เอกเรขศิลป์ ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรียนคล้ายกันเลยค่ะ ศาสตร์เดียวกัน ต่างกันด้วยสไตล์การเรียนการสอนของแต่ละมหาวิทยาลัย ของจุฬาฯจะเน้นงาน Creative งานคิดเยอะๆ สร้างสรรค์ๆ ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยจัดการ แต่เป็นการสื่อสารผ่านภาพเหมือนกัน
( ผลงานนิเทศศิลป์ : การออกแบบสัญลักษณ์ 12 ราศี จุดเริ่มต้นที่จะพัฒนาต่อไปถึงการออกแบบโลโก้)
( ตัวอย่างงาน โลโก้ Style เรขศิลป์ เน้นการทำ Graphic เป็นหลัก)
แต่ก็จะมีน้องๆสับสนอีกว่าระหว่าง นิเทศศิลป์ กับ นิเทศศาสตร์ เหมือนกันหรือเปล่า? เรียนเหมือนกันไหม?
MM : เรียนเกี่ยวกับการสื่อสารเหมือนกันค่ะ แต่นิเทศศาสตร์มันคือ Communication art คือจะเน้นงาน production (เบื้องหลัง) งานถ่ายหนัง ถ่ายภาพ กำกับหนัง เขียนบท ไปในสายนั้น แต่นิเทศศิลป์คือ visual communication design คือจะเรียนออกแบบเลย ออกแบบงานภาพขึ้นมาเพื่อใช้สื่อสาร
( AMUNO : ในฐานะที่เรียนจบนิเทศศาสตร์ ขออธิบายเพิ่มเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ในส่วนของนิเทศศาสตร์ จะเน้นไปทางสายการใช้เครื่องมือสื่อสาร เน้นฝึกทักษะการสื่อสาร (การพูด การเขียน ลงลึกไปถึงทฤษฏีการสื่อสาร และการใช้เครื่องมือสื่อสารต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ กล้องภาพยนตร์ กล้องถ่ายภาพ ) เป็นหลักและมีการทำงานศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับนิเทศศิลป์ ไม่มีการวาดภาพ ลงสี แต่การสร้างสรรค์งานศิลป์ของนิเทศศาสตร์ส่วนใหญ่จะใช้ คอมพิวเตอร์ โปรแกรมตัดต่อ ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงาน Graphic เป็นส่วนใหญ่ จบนิเทศศาสตร์ จะไปอยู่ในสายงานโฆษณา ภาพยนตร์ รายการทีวี นักข่าว ผู้ประกาศข่าว นักจัดรายการวิทยุ และเบื้องหลัง หากใครมีทักษะการสื่อสารที่ดี และมีทักษาะภาษาต่างประเทศ ก็จะไปเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือที่เรารู้จักกันคือ แอร์โฮสเตส(Air hostess) และ สจ๊วต(Steward)
*สรุปคือ นิเทศศาสตร์เรียนเกี่ยวกับระบบการสื่อสารโดยใช้ภาษาและตัวอักษรผ่านเครื่องมือต่างๆ ส่วนนิเทศศิลป์เรียนเกี่ยวกับการสื่อสารผ่านภาพ ที่ต้องมีการตีความ มีความเข้าใจ อาจจะต้องมีประสบการณ์ร่วม หรือความรู้ในสิ่งนั้นๆ ดั้งนั้น นิเทศศิลป์และนิเทศศาสตร์เรียนสื่อสารเหมือนกัน แต่วิธีการสื่อสาร และเครื่องมือที่ใช้ฝึกฝนตอนเรียนแตกต่างกัน
ตัวอย่าง : เมื่อเปรียบเทียบคร่าวๆระหว่างโปรสเตอร์ของนิเทศศิลป์-เรขศิลป์ (ซ้ายมือ)
ที่ต้องใช้การตีความ ประสบการณ์ร่วม และจินตนาการ
กับ โปรสเตอร์ของนิเทศศาสตร์ (ขวามือ COCO Chanel)
ที่สื่อสารออกมาได้ชัดเจน ภาพยนต์ชื่ออะไร ใครเป็นนักแสดงนำ บอกเล่าถึงเรื่องอะไร
เป็นต้น
(ตัวอย่างงาน Style เรขศิลป์)
ตอนสอบเข้าต้องเตรียมตัวอย่างไร ต้องติวประมาณไหน?
มินท์ : ต้องติววิชาเฉพาะเรขศิลป์เลยค่ะ ค่อยๆเรียนรู้ตั้งแต่เริ่ม ฝึกให้ชินกับการทำงาน หาสไตล์ตัวเองให้เจอ พอตอนสอบ ก็ฝึกจับเวลาทำงาน ต้องอ่านหนังสือด้วย เพราะถ้าเป็นเรขศิลป์ของจุฬาฯ นอกจากจะต้องสอบปฏิบัติแล้ว ก็ต้องสอบทฤษฏีนฤมิตศิลป์ กับ GAT ด้วย เพื่อเอาคะแนนแต่ละส่วนมาเฉลี่ยๆกัน จะฝึกมือวาดรูปอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ ต้องอ่านหนังสือด้วย อาจจะต้องจัดเวลาให้ตัวเองดีๆ นอกจากนี้จะต้องมี Porfolio เก็บสะสมผลงานด้วยค่ะ ไว้ใช้ตอนเข้ารอบสัมภาษณ์
MM : ถ้าเป็นนิเทศศิลป์ของศิลปากร ก็ต้องเรียนวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ กับวิชา Drawing ดูงานเยอะๆ ฝึกลงสี คิดโจทย์ให้ไว ทำงานให้เร็ว(เร็วและดีด้วย) ส่วนตอนสอบของนิเทศศิลป์ จะมีสอบออกแบบนิเทศฯ สอบ Drawing (โหดมาก) แล้วก็มีข้อสอบวิชาการทั่วไป ตรงนี้ถ้ารู้ตัวว่าไม่เป๊ะ อยากให้แบ่งเวลาอ่านหนังสือด้วย แต่ไม่มีสอบทฤษฏีเหมือนเรขศิลป์จุฬาฯ ทำ Portfolio เตรียมไว้ด้วยจะดีมากๆเลย
(ตัวอย่างงาน ที่ผสมผสามระหว่าง Style นิเทศศิลป์ กับ เรขศิลป์)
ช่วงเวลา หรือชีวิตในคณะ ในภาค ในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไรบ้าง (ที่เรียนภาควิชานี้)
MM : ก็เลอะๆ (หัวเราะ) ถ้าเจอกลุ่มเพื่อนที่เข้ากับเราได้ เราก็จะสนุก มีคนผ่านช่วงเวลาต่างๆไปด้วยกัน มีสับสนค้นหาตัวเองกันบ้าง (เพราะนิเทศเราเรียนกว้าง) แต่สุดท้ายก็จะพอจับทางได้ว่าชอบอะไรถนัดอะไร หาความสุขในนั้นให้ได้ สี่ปีก็ไม่ยากเกินไป มีอดหลับอดนอน ทำงานโต้รุ่งบ้าง หรือบางคืนก็อดหลับอดนอนแต่ไม่ได้งานไรเลยก็มี คิดงานไม่ออก(หัวเราะ) เรียนออกแบบมันก็ค่อนข้างคิด(งาน)เยอะ หัวจะพัง คำวิจารณ์(งาน)แรงๆก็เยอะ แต่ถ้าทนไม้มือทนมือพอก็รอดได้ เห็นเพื่อนเราเป็นไมเกรน เป็นโรคกระเพราะ โรคซึมเศร้ากันหลายคน น้องๆอย่าลืมออกกำลังกายเยอะๆนะ
มิ้นท์ : เป็นช่วงเวลาที่หลากรสมากๆ ปีแรกๆจะเหนื่อยกิจกรรมหน่อย (เชื่อว่าทุกคณะเป็นแบบนี้หมด) หลังๆพอเริ่มชินกับความทรหดก็ไม่รู้สึกอะไรแล้ว มีเวลาที่เครียดเหมือนกัน คณะเราใช้ชีวิตไม่เหมือนสายอื่น เราทำ Porject เหมือนสอบเข้าทุกวัน แต่ตอนสายอื่นสอบเราก็ไม่มีสอบ คุยกับสายอื่นจะไม่ค่อยรู้เรื่อง(หัวเราะ) ที่น่าสนใจคือคณะเรามีโปรเจคไปดูงานต่างประเทศด้วย ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของนิสิต ไม่ได้บังคับ เป็น Trip ที่สนุกมาก ได้เปิดหูเปิดตาเปิดโลก มีโครงการเรียน Summer ที่อังกฤษ ไม่บังคับเช่นกัน บางปีมีนิสิตแลกเปลี่ยนจากอังกฤษมาร่วมคลาสด้วย โดยรวมแล้วสนุกมากๆ ชีวิตมีสีสันค่ะ
(ผลงานวิชานิเทศศิลป์ artHOUSE)
เรียนจบนิเทศศิลป์ เรขศิลป์ แล้วจบไปทำงานอะไร มีบริษัทรูปแบบไหนที่รองรับงานบ้าง?
MM : ส่วนใหญ่เป็น Freelanc (หัวเราะ) รับสร้างสรรค์งานออกแบบ แต่ถ้าเป็นเรื่องบริษัทก็แล้วแต่สายที่ตัวเองเลือกเลย คนเรียนโฆษณาก็ไปเข้า Agency ส่วนทำ Grapphic ก็ไปอยู่ Graphic House หรือ Studio ออกแบบต่างๆ ใครทำงาน Graphic งานภาพประกอบสไตล์ไหน ก็เลือกบริษัทที่เข้ากับสไตล์ของแต่ละคนไป หรือบางคนก็ไปเป็นศิลปินอิสระ ไปสายแสดงผลงานอะไรแบบนี้
มินท์ : ก็คล้ายๆกับ MM ค่ะะ แต่ว่าเรขศิลป์ค่อนข้างเข้มข้นเรื่อง Graphic Design ทำงานในบริษัทกราฟฟิก(Graphic house) นอกจากนั้นก็มี Art Director และ Creative Director ในบริษัทโฆษณา(Advertising agency) ทำเกี่ยวกับออกแบบโฆษณา แหวกไปอีกนิดก็คือ Planner และ AE (ค่อนข้างเป็นสายวางแผนให้กับโปรเจคในบริษัทต่างๆหรือประสานงานระหว่างลูกค้าและนักออกแบบ แต่ไม่ค่อยตรงสายที่เรียนเท่าไหร่) น้องๆอาจจะงงว่า ทำไมถึงแหวกมาได้ขนาดนี้ ถ้ามาเรียนแล้วจะเข้าใจจริงๆ (MM : ใช่ๆ (หัวเราะ)
เพจ Facebook ผลงานของ MM คลิ๊ก!!
AMUNO
© Copy Right artHOUSE Institute, All Rights Reserved. ไม่อนุญาติให้นำบทความไปดัดแปลง, เขียนใหม่, หรือนำไปเผยแพร่ในที่สาธารณะโดยไม่ใส่เครดิตหรือได้รับอนุญาติ