top of page
  • รูปภาพนักเขียนArthouse School

"When I never give up ในวันที่เราไม่ยอมแพ้" - พี่เบิร์น ชาญฉลาด กาญจนวงศ์



จากความสำเร็จในการก่อตั้งแบรนด์เครื่องเขียนสายเลือดไทยที่มีความแตกต่างทางด้านกระบวนการคิดที่สร้างสรรค์และแรงบันดาลใจที่น่าค้นหา ทำให้เรามีโอกาสได้เห็น “พี่เบิร์น ชาญฉลาด กาญจนวงศ์” ถูกเชิญไปให้สัมภาษณ์ตามสื่อต่างๆมากมายไม่ว่าจะเป็น รายการโทรทัศน์ รายการวิทยุ รวมไปถึงการให้สัมภาษณ์ลงในนิตยาสารและสื่อต่างๆในโลกโซเชียลเพื่อบอกเล่าถึงกระบวนการคิดและแรงบันดาลในการพัฒนาเครื่องเขียนไทยภายใต้แบรนด์เท่ๆอย่าง “เกเร” ( Grey ray Stationery )

แต่ยังมีเรื่องราวอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นเรื่องราวที่พี่เบิร์นไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน นั่นก็คือเรื่องราวเส้นทางชีวิตในวัยเด็กและแรงบันดาลใจในการก่อตั้ง “สถาบันสอนศิลปะและการออกแบบ artHOUSE ” จากวันนั้น ในระหว่างทาง พี่เบิร์นต้องเจอกับบทพิสูจน์และข้อจำกัดอะไรบ้าง กว่าจะประสบความสำเร็จได้ในวันนี้ กับบทสัมภาษณ์ที่บอกเล่าเรื่องราว

“When I never give up ในวันที่เราไม่ยอมแพ้” ของ “พี่เบิร์น ชาญฉลาด กาญจนวงศ์”

 

"There are two kinds of people in this world : those who let it happen, those who make it happen"

"คนมีอยู่สองประเภท ประเภทปล่อยให้ชะตานำพาชีวิตไป หรือเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตขึ้นมาเอง"

 

AMUNO : พี่เบิร์นเป็นคนชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กๆเลยหรือป่าว

พี่เบิร์น : ใช่ครับ ตอนเด็กๆให้วาดอะไรก็วาดได้ ให้ปั้นดินน้ำมันก็ปั้นได้ เราเป็นเด็กที่เขียนรูปอย่างเดียวเลยไม่ทำอย่างอื่นเลย เวลาไปไหนแม่ก็เอาแค่กระดาษกับดินสอก็อยู่ได้ทั้งวัน พอจบม.3 แม่เห็นแววว่าคงมาทางนี้แน่นอนก็ให้ไปสอบเข้าช่างศิลป์เลย ไปสอบทั้งๆที่ตอนนั้นยังไม่รู้จักช่างศิลป์เลย ไม่รู้จักดินสอEE ไม่รู้จักสีน้ำ ไม่รู้จักอะไรพวกนี้เลย เหมือนช่วงรอยต่อของแต่ละวัยที่ผ่านมาก็มีแต่งานศิลปะมาตลอดเลย

AMUNO : ถ้าย้อนกลับไปในวัยเด็ก ด.ช.ชาญฉลาด เป็นเด็กแบบไหน

พี่เบิร์น : เวลาอยู่ที่บ้านจะเป็นเด็กนิ่งๆไม่ค่อยซน ไม่ใช่เด็กที่เล่นของแล้วพังส่วนใหญ่ก็จะชอบเขียนรูป ชอบเล่นกีต้า ด้วยความที่บ้านผมมีคนอยู่กันเยอะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่เป็นตึกแถว อยู่กันครอบครัวละชั้น ผมก็ชอบอยู่คนเดียวไม่ค่อยยุ่งกับใครมากนัก ชอบจัดห้องแต่งห้องตั้งแต่เด็กๆ เป็นห้องเดียวในตึกนั้นที่สะอาดเรียบร้อย ที่นี้ทุกคนก็เลยอยากเข้ามานั่งอยากเข้ามาทำนู่นนี่ตลอดเวลาแต่ใครจะเข้าห้องผมก็ต้องเคาะประตูก่อน ไม่ชอบให้อยู่ๆจะเปิดเข้ามาเลย มาย้อนดูตัวเองตอนนั้นก็ถือว่าเป็นเด็กที่มีพื้นที่ส่วนตัวสูงมากเลย


AMUNO : เล่าถึงช่วงเวลาของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยบ้างดีกว่า

พี่เบิร์น: เรามีความตั้งใจมาตั้งแต่เด็กๆเลยว่าอยากเรียนศิลปกร เวลาเขียนไดอะรี่หรือเวลาพูดถึงความฝันอะไรก็จะชัดเจนเลยว่าอยากจะเรียนที่ศิลปากร ตอนนั้นคิดว่าสอบเข้าคณะจิตกรรมได้แน่ๆ เพราะเรียนช่างศิลป์และที่นี่เค้าสอนเน้นเข้าจิตรกรรมเป็นหลัก ก็อยากลองท้าทายตัวเองด้วยการสอบเข้า คณะมัณฑนศิลป์ สาขาตกแต่งภายใน (Interior) ก็ถือว่าแหกคอกในกลุ่มเพื่อนพอสมควรเพราะทุกคนมุ่งเข้าจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรกันหมดเลย

สรุป!... ปีนั้นสอบไม่ติดเพราะว่ามั่นใจเกินไป แล้วเมื่อก่อนมันไม่มีบอกด้วยนะว่าไม่ติดเพราะไร มีแต่ส่งจดหมายมาที่บ้านแล้วบอกว่า “คุณไม่ผ่านการคัดเลือก” แค่นั้น... แค่นั้นจริงๆ ไม่บอกทั้งคะแนนวิชาการและคะแนนปฏิบัติว่าเราได้เท่าไหร่ มันก็เคว้งซิ เคว้งไปเลย ก็เลยกลับมาเช็คตัวเองสักอาทิตย์หนึ่งก็คิดว่าตัวเองน่าจะพลาดวิชาการ เพราะเรื่องปฏิบัติก็มั่นใจพอสมควร แต่วิชาการไม่เอาเลย (จะติดได้ไงหละ) ก็ตัดสินใจว่า เอาหล่ะ! จะสอบใหม่ ต้องเอาให้ได้! ตอนนั้นศิลปะไม่สน ไม่ฝึกแล้ว มุ่งติววิชาการอย่างเดียว

AMUNO : ชีวิตเด็กซิ่วตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้างพี่

พี่เบิร์น : ก็เรียนต่อปีสี่ (ปวช.)ภาควิชาออกแบบตกแต่งภายในที่ช่างศิลป์นั่นแหละ ก็รู้สึกผ่อนคลายขึ้นเพราะรู้ว่าเรามีที่เรียนอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่ตัวเองไม่เคยสนใจเรื่องวิชาการเลยก็ต้องมาเรียนรู้ด้วยตัวเองใหม่ทั้งหมดเพื่อเตรียมสอบใหม่อีกครั้ง เราไม่เคยรู้เลยว่าวิทยาศาสตร์เขาพูดถึงอะไรกัน เขาทดลองอะไรกันอ่านแล้วงงไปหมด ดังนั้นทางลัดของเราคือไปซื้อหนังสือที่มีเฉลยข้อสอบมา แล้วก็หัดทำแบบฝึกหัดย้อนหลังไปสิบปี ข้อไหนที่ทำไม่ได้ก็ไม่โกงตัวเอง แต่จะติ๊กไว้ว่าข้อนี้เราทำไม่ได้แล้วค่อยย้อนกลับไปทำ ภายในปีเดียวก็ใช้วิธีเรียนรู้ด้วยตัวเองใหม่หมดเลยทุกวิชา มันก็สอนให้รู้ว่า เห้ย! เราก็ทำได้นะ บ้านไม่มีใครรู้ว่าเราซุ่มเรียนอยู่คนเดียว เพราะเลิกเรียนเสร็จกลับมาถึงบ้านเหนื่อยๆผมก็นอนก่อนเลย (เพราะต้องเดินทางไปกลับระหว่างฝั่งธนกับลาดกระบังทุกวัน) ตื่นมาสองทุ่มก็อาบน้ำกินข้าวทำการบ้านทำอะไรต่างๆ พอสักเที่ยงคืนทุกคนหลับเราก็เริ่มอ่านหนังสือ เทคนิคก็คือจะต้องเปิดไฟให้สว่างจุดเดียวที่โต๊ะ เพราะเป็นคนสมาธิสั้นมาก สั้นโคตรๆ รอบๆเลยต้องมืดหมดเพราะของรอบตัวมันจะรบกวนสมาธิ บางทีเราเหลือบไปเห็นหนังสือเล่มอื่น อุ่ย! หน้าอ่านจังมันก็จะไหลยาวไปเรื่อย หรือบางทียางลบตกแล้วกล้มลงไปหาแล้วเจอของอย่างอื่นมันก็จะลาม ลาม ลามไปเก็บห้องบ้าง ไปเล่นกีต้าบ้าง เรียกว่าบานปลายมากจริงๆ(หัวเราะ) เพราะเป็นคนไม่เคยฝึกทักษะการอ่านหนังสือแบบจริงจังมาก่อนเลยเรียนๆเล่นๆมาตลอด เปิดอ่านไปสิบหน้าแต่ไม่เข้าหัวเลย เพราะสมาธิสั้นมาก จนมาได้เทคนิคที่ว่าพอสมาธิเริ่มหลุด รู้สึกตัวปุ๊บ! ปิดหนังสือเลย! จะไม่นั่งอ่านต่อไปเรื่อยๆ แล้วก็เดินไปกินน้ำบ้างอะไรบ้าง แล้วกลับมาเริ่มอ่านอีกครั้ง ก็ทำแบบนี้ซ้ำๆ จนเริ่มรู้แล้วว่าจะเรียกสติกลับมาได้อย่างไร และสุดท้ายผมก็สอบเข้า คณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบตกแต่งภายใน ของศิลปากรได้ในที่สุด ตอนนั้นจำได้ว่าดีใจมากๆ ซึ่งถือว่ามันค่อนข้างเกินเอื้อมสำหรับเราพอสมควร เพราะเป็นคณะที่คะแนนสอบสูงมากๆ

AMUNO : สอบเข้าศิลปกรได้ตามความฝันแล้ว ชีวิตนักศึกษาเป็นอย่างไรบ้าง

พี่เบิร์น : ถามว่าสนุกไหม? ก็สนุกนะ แต่จริงๆเราเรียนรู้ชีวิต เรียนรู้รสนิยมต่างๆทุกอย่างจากช่างศิลป์มาหมดแล้ว ก็เลยเริ่มเบื่อ ไม่รู้สึกสนุกเหมือนเด็กปีหนึ่งคนอื่นที่มาจากรร.มัธยมปลายปกติ จนผ่านไปสองอาทิตย์แล้วเพื่อนมันต้องมาขอร้องให้เข้าเชียร์ พอเข้าไปเขาก็ให้ท่องให้ร้องเพลงอะไรก็ไม่รู้ ไม่รู้เรื่องเลยเหมือนภาษามนุษย์ต่างดาว รับน้องที่ศิลปากรรุ่นพี่จะไม่บังคับน้องแต่เขาจะขออาสาสมัครออกมา ทุกคนก็จะแย่งกันออกไป แต่ผมจะงงๆเพราะเพิ่งขึ้นมาก็จะนั่งเฉยๆไม่ลุกออกไป เป็นแบบนี้อยู่หลายวันจนมีรุ่นพี่คนหนึ่งคิดไรไม่รู้ เห็นหน้าผมแล้วพูดว่า “เห้ย! เอ็งออกไปดิ” แล้วก็ให้ไปเต้นอะไรสักอย่าง เราก็เดินออกไปเต้นแบบงงๆแล้วหลังจากนั้นโลกก็เปลี่ยนทุกคนก็รู้จักผมหมดเลย(ฮา) เพราะให้ทำอะไรผมก็ทำได้หมดเลย จนมีรุ่นพี่คนหนึ่งพูดว่า “เอ็งเป็นเพชรเลยนะเนี่ย เอ็งไปอยู่ไหนมาวะ(หัวเราะ)” คือผมเป็นคนที่ให้ทำอะไรแล้วจะทำจนสุด ให้เต้นอะไรเต้นได้หมด ทุเรศแค่ไหนก็เต้น เต้นแบบหน้าตาย หน้านิ่งๆแต่ตัวนี่คือพริ้วมาก(หัวเราะ) ก็ทำกิจกรรมจนปี4 แต่เด็ก Interior เขาจะไม่ให้ทำกิจกรรม เพราะแค่งานก็เยอะอยู่แล้ว แต่ผมก็แรดอยู่คนเดียว(หัวเราะ) ไปทำกิจกรรมบ้าง ไปคบเพื่อนต่างคณะบ้าง เพราะเพื่อนในภาคก็จะคุยกันแต่เรื่องตรวจแบบ คุยกันแต่เรื่องงานอะไรพวกนั้นซึ่งผมก็รู้สึกเบื่อมาก


ตอนเรียนความลำบากเริ่มตอนผมอยู่ปีสองปีสาม ผมรู้สึกอยากตายทุกวันเลยนะ คือเดินไปมหาวิทยาลัยเหมือนไม่มีวิญญาณเลย เพราะว่าเขาสอนพื้นฐานทุกอย่างที่ผมเรียนมาหมดแล้วจากช่างศิลป์ ต้องมานั่งเขียนแบบ เขียนแบบ เขียนแบบ ตอนนั้นเราไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เรียนมันสนุกตรงไหน? หัวใจมันคืออะไร? เราออกแบบไปทำอะไร? เพื่อใคร? ไม่เคยมีใครมาบอก จนเรียนจบถึงได้เข้าใจว่า อ๋อ! งานออกแบบมันคือการออกแบบชีวิตเขาให้ดีขึ้นสะดวกขึ้นนะ เพราะฉะนั้น “ถ้าการออกแบบไปทำให้ชีวิตเขายากขึ้นเมื่อไหร่นั่นคือผิดแล้ว!” พอเข้าใจ ก็เริ่มสนุกกับที่สิ่งที่ตัวเองเรียนมามากขึ้น

AMUNO : หลังจากเรียนจบพี่เบิร์นเปิดโรงเรียนสอนศิลปะเลยหรือเปล่า หรือว่าไปทำอย่างอื่นก่อน?

พี่เบิร์น : ยังไม่ได้เปิดครับ ต้องบอกก่อนว่าเราจบช้ากว่าเพื่อนๆหนึ่งปี เพราะด้วยความที่เราทำกิจกรรมนี่แหละบวกกับมีเวลาทำงานน้อยก็เลยจบช้ากว่าเพื่อน ตอนนั้นผมยังไม่จบแต่ก็ระหกระเหินเร่ร่อนไปหาทำงานนะ เพราะไปทำงานนี่แหละมันทำให้ผมเรียนรู้ว่า อ๋อ! วิชาชีพเราเป็นอย่างนี้นี่เอง อ๋อ! อาจารย์ก็เหมือนลูกค้านี่หว่า เราไม่ใช่ศิลปินที่จะทำอย่างที่เราต้องการอย่างเดียว ต้องแชร์กับเขาด้วยถ้าอยากได้เงินลูกค้าก็ทำตามใจเขาสิจะไปติสทำไม พอกลับมาเรียนอีกครึ่งปีผมเรียนจบเลย เพราะเรียนรู้จากการได้ออกไปทำงานจริงมา


AMUNO : artHOUSE เกิดขึ้นตอนไหน?

พี่เบิร์น : ตอนที่ยังเรียนอยู่ปีหนึ่งที่ศิลปากรผมก็เริ่มสอนวาดรูปแล้ว และมันเป็นความฝันที่ผมเคยคุยกับเพื่อนคนหนึ่ง จำได้เลยว่าวันนั้นเราเดินคุยกันเรื่องความฝันนี้ระหว่างเดินกลับบ้าน เดินคุยกันไปเรื่อยๆ ไฟมันลุกโชนมาก เรายังจำภาพวันนั้นได้ดี เราสองคนสาดภาพความฝันใส่กันแบบสนุกสนานมาก แต่สุดท้ายเพื่อนผมเขาก็ไม่ได้ทำต่อแต่ผมยังมีความฝันนั้นอยู่ ในช่วงที่ผมเป็นมัณนากรอยู่ ก็มีคนมาลงทุนให้เป็นหุ้นส่วนกันเปิดโรงเรียนกันที่สยามสแควร์ที่แรกเลย แต่อยู่ๆวันหนึ่งเขาก็ขนของหนีหมดเลยแล้วก็หายไปเลย เรื่องมันเหมือนจะจบนะ แต่ตรงนี้แหละคือจุดเริ่มต้น!

ผมย้ายมาเปิดที่ Hollywood Street แถวสะพานหัวช้างซึ่งค่าเช่าถูกมาก แต่เงียบมาก อยู่มาหนึ่งปี รุ่นแรกยังโอเคแต่รุ่นหลังๆก็เงียบผมแค่คิดว่าสยามอยู่ตรงนี้ผมเปิดอยู่ตรงนี้ไม่น่าเป็นอะไรหรอกเพราะมันอยู่ใกล้ๆกันซึ่งมันผิด! ตอนนั้นผมก็ได้เรียนรู้การทำธุรกิจบทที่หนึ่งเลยก็คือเรื่องทำเลและที่ตั้ง ระหว่างนั้นผมก็มาสยามทุกวันเพื่อจะมาหาที่เช่า จนไปเจอร้านเสื้อผ้าร้านหนึ่งที่เขาติดประกาศให้เช่าชั้นบน แต่ผมอยากได้ชั้นล่างด้วยเพื่อที่จะได้มีหน้าร้าน ผมก็โทรไปตื้อเขาเป็นปี จนมีวันหนึ่งโทรไปผิดเวลา โทรไปพักเที่ยงแล้วเจ้านายเขารับ เขาก็ “อ๋อ! เธอเองหรอที่โทรมา ทำไมอึดจัง(หัวเราะ)” เขาก็เลยเรียกไปคุย สรุปเขาก็ให้เช่า โห! ดีใจมาก ปรากฏว่าตกแต่งไปประมาณอาทิตย์กว่าๆมีหนังสือจากจุฬาฯมาบอกว่าให้ย้ายออกไปทันทีเพราะมีกฎว่าโรงเรียนในสยามต้องมีสี่ห้อง สี่คูหา สี่ชั้น โลกมืดลงทันที่ อ่าว!...แล้วสี่ชั้นจะไปหาที่ไหนในสยาม? มันไม่มีอยู่แล้วใหญ่ขนาดนั้น ผมก็ทำเรื่องทำหนังสือเข้าไปคุยกับอธิการบดี ไม่ยอมออกเจรจาตกลงกันเป็นปีนะ จนในที่สุดเขาก็เห็นใจให้ผมก็ได้เปิดโรงเรียนได้ในที่สุดเพราะความดื้อแท้ๆ

จนอยู่สยามมาสิบกว่าปี จนวันหนึ่ง Centerpoint ถูกทุบ ทางเข้าโรงเรียนตรง Centerpoint พอดี รอจนหมดสัญญาก็มา Survey ที่ตึกนี้แหละ(artHOUSEปัจจุบัน) เขาเขียนว่าให้เช่าแต่พอมาอีกเดือนเขาบอกให้คนอื่นเช่าไปแล้ว ผมเสียดายมากเพราะว่ามันเป็นจุดเดียวที่มีที่จอดรถ แต่ผมก็วนมาดูเรื่อยๆประมาณสามเดือนในที่สุดเจ้าของตึกเขาก็ให้เช่าอีกครั้งหนึ่งเพราะคนที่จองไว้ไม่มาทำสัญญา มันเป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่มาก จากที่เราเคยอยู่ที่สยามมันเจริญมากพอย้ายออกมาตอนนั้นพญาไทยังไม่มีอะไรเลย แต่ผมคิดนะว่าเดียวมันจะเจริญ แล้วมันก็เจริญขึ้นจริงๆ ตอนนี้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของออฟฟิศและโรงเรียนกวดวิชาต่างๆมากมายเลย


AMUNO : สนิทกับนักเรียนไหม?

พี่เบิร์น : สนิทครับ เราไม่ได้วางตัวให้เป็นคุณครูแต่เป็นเพื่อนเขา เป็นพี่ของพวกเขา วิธีคิดก็คือ เราจะดูว่าเขามีต้นทุน(ทางศิลปะ)หรือเปล่า ถ้าเขาพอมีอยู่บ้างก็จะผลักดันเขาไปทางนั้น แต่ถ้าเขาไม่มีก็จะช่วยให้เขาหาต้นทุนของตัวเองให้เจอเพื่อที่จะต่อยอดต้นทุนนี้ไปเรื่อยๆ นอกเหนือจากเรื่องราวการเรียนการสอนแล้วพวกเขาก็จะเล่าจะปรึกษาเรื่องส่วนตัวกับเราด้วย ซึ่งเราก็จะดูแลกันไปตั้งแต่ต้นจนจบ แน่นอนว่าเราเป็นแค่ส่วนหนึ่งในชีวิตเขา แต่เมื่อเห็นพวกเขาประสบความสำเร็จเราก็มีความสุขนะ รู้สึกยินดีไปกับเขา ดีใจในความรักดีของเขา ซึ่งผมมองพวกเขาเป็นน้องมากกว่าเป็นลูกศิษย์ไปแล้ว (เรื่องไหนที่พี่เบิร์นคุยกับเด็กนักเรียนแล้วประทับใจที่สุด?) มีเยอะมากเลยนะ ล่าสุดที่ผ่านมานี้เองในคลาสพรีเอ็น( Pre Entrance )เป็นคลาสที่เราติวเข้มวิชาวาดเส้นเพื่อสอบเข้าคณะมัณฑนศิลป์ ศิลปากรโจทย์ที่ให้ตอนนั้นคือวาดมือ ซึ่งมีน้องหลายคนที่ทำไม่ค่อยได้ แต่มีน้องคนหนึ่งชื่อน้องจีนเป็นน้องที่ทำโจทย์นี้ได้อยู่คนเดียวเลย ซึ่งน้องคนนี้เขาไม่ค่อยมาเรียนเพราะเขาเป็นเด็กต่างจังหวัด แต่เขาสามารถทำได้ดี ตอนนั้นผมไม่ได้สนใจว่าเขาทำได้ดีหรือไม่ดี แต่ผมสนใจว่าทำไมน้องเขาถึงทำได้ทั้งๆที่เขามีชั่วโมงในการเรียนน้อยกว่าเพื่อนคนอื่นๆ เขาบอกว่าเขาได้ฟังคนหนึ่งพูดว่า เมื่อนานมาแล้วตอนแรก“ภูเขาเอฟเวอเรส (Mount Everest) เป็นภูเขาที่ไม่เคยมีใครพิชิตได้เลย เพราะทุกคนเชื่อว่ามันสูงมาก พอได้ยินชื่อเอฟเวอเรสทุกคนจะบอกว่าไม่มีทางขึ้นไปได้ แต่ว่าพอมีคนหนึ่งที่สามารถขึ้นไปได้หลังจากนั้นทุกคนก็เชื่อว่ามันก็ไม่ได้ยากนี่หว่า” ตรงนี้ก็เลยกลายเป็นแรงบันดาลใจของเขา ตอนนั้นจำได้ว่าพอน้องจีนพูดจบทุกคนในห้องปรบมือกันเกลียวเลย

อีกเรื่องก็คือมีน้องผู้ชายคนหนึ่ง จำชื่อเล่นจริงๆของน้องเขาไม่ได้เพราะในคลาสชอบเรียกว่า ณเดช(หัวเราะ) เพราะเป็นเด็กผู้ชายคนเดียวเลยในคลาสนั้น ซึ่งเขาก็มาจากต่างจังหวัดเหมือนกัน นั่งรถมาสามชั่วโมงเพื่อมาเรียนสามชั่วโมงแล้วนั่งกลับบ้านอีกสามชั่วโมง ก็เลยถามน้องเขาว่าระหว่างนั่งรถมากรุงเทพฯทำอะไรบ้าง หลับรึป่าว น้องตอบว่า “เปล่า...ผมนั่งสเก็ตงานมาตลอดทาง” ซึ่งผมก็เชื่อแบบนั้น เพราะว่าการเดินทางไกลเพื่อมาเรียนแค่สามชั่วโมง คนๆนั้นต้องมีความมุ่งมั่นพอสมควรเลยนะ เพราะถ้าไม่มุ่งมั่นจริงๆเขาไม่มาหรอก เหนื่อยจะตายถูกไหม ผมก็นำความมุ่งมั่นตรงนั้นมาพัฒนาน้องๆในคลาส มาพัฒนากลุ่มการสอนของเราให้มันพัฒนายิ่งขึ้นไปด้วยและมันก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีมากๆ นี่ก็เป็นเรื่องราวที่ผมประทับใจในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา

AMUNO : พี่เบิร์นเป็นคนที่มีความคิดที่เป็นขั้นเป็นตอน ตัดสินใจอะไรแบบมีระบบ และมีมุมมองการใช้ชีวิตที่น่าสนใจ อยากรู้ว่าพี่เบิร์นมีไอดอลไหม มีใครเป็นผู้นำความคิดหรือเปล่า?

พี่เบิร์น : ไม่มีนะ(หัวเราะ) ไม่มีเลย ผมเป็นเด็กที่เป็นตัวของตัวเองสูงมาก ที่ชอบอ่านหนังสือเพราะมักจะได้อะไรดีๆจากหนังสือ ได้จากเพลง ได้จากหนัง ได้จากหลายๆอย่าง อาจจะได้มาจากวลีหนึ่งของหนังสือซึ่งมันก็เปลี่ยนแปลงผมมาหลายครั้งแล้ว อย่างเช่นก่อนที่ผมจะทำเครื่องเขียนก็ไปอ่านเจอวลีหนึ่งในหนังสือของคุณโชคชัย บูลกุล เจ้าของฟาร์มโชคชัย ตอนนั้นผมมีความคิดว่าอยากจะขยายธุรกิจ คิดว่าจะเปิด artHOUSE สาขาอื่นดู แต่ผมไปเจอวลีที่คุณโชคชัยบอกว่า “การขยายธุรกิจไม่ได้แปลว่าต้องขยายภายนอกอย่างเดียว ขยายภายในก็ได้” โห! เหมือนมีใครเอาอะไรมาตีหัวผมเลยนะ ขยายจากภายในคืออะไร? คำตอบคืออย่างเช่นเขาทำฟาร์มโชคชัย เขาก็สามารถที่จะทำฟาร์มโชคชัยให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ด้วย มีร้านอาหาร มีร้านแฮมเบอร์เกอร์ที่เนื้อเจ๋งๆ มีการให้เข้าไปดูงานแต่เขาไมได้ขยายฟาร์มไปหลายๆที่แบบนั้น ผมก็กลับมาคิดว่าไม่จำเป็นต้องขยายหลายๆสาขาเลย artHOUSE ต้องมีที่เดียวแต่ต้องดีที่สุดไปเลย แต่ว่ามาขยายภายในนั่นก็คือการทำ Product เครื่องเขียนอะไรแบบนี้


AMUNO : พี่เบิร์นทำงานเยอะมากและเหมือนจะทำงานอยู่ตลอดเวลาด้วย อยากรู้ว่าเคยเหนื่อยหรือเคยท้อไหม ถ้าเคยจะจัดการกับความรู้สึกตรงนั้นอย่างไร?

พี่เบิร์น : เหนื่อยครับแต่ไม่เคยท้อ แต่ผมเป็นคนเหนื่อยไม่นาน แล้วก็ไม่เข็ดผมเป็นคนแบบนั้น ถามว่าอะไรกลัวสุด ถ้าไม่กลัวความตายอะไรก็ไม่น่าไม่กลัวแล้ว ผมไม่กลัวตายเพราะเป็นคนทำทุกอย่างมาแล้ว หลายๆครั้งก็รอดมาจากตรงนั้นได้ สมัยเด็กๆจมน้ำบ้างอะไรบ้างก็ทำให้เข้าใจสัจธรรมความตายมันไม่ใช่เรื่องน่ากลัว พอไม่กลัวตายนะ มองอะไรก็ดูเป็นเรื่องธรรมดา เหนื่อยหรอ เออๆสนุกดีนะ ได้แก้โจทย์ทำตรงนี้ตรงนั้นอะไรแบบนี้ มันเหมือนมีเรื่องให้เหนื่อยให้ท้อเข้ามาเรื่อยๆ ผมก็ตั้งรับแบบนี้เรื่อยๆ จนมันกลายเป็นเรื่องสนุกไปแล้ว เพราะถ้าจิตใจเราเข้มแข็งนะอะไรมันก็ผ่านไปได้อย่างแน่นอน

AMUNO : อะไรคือสิ่งที่เบิร์นยืดถือมาตลอด?

พี่เบิร์น : สิ่งที่ผมยึดมาตลอดก็คือ “การนับถือตัวเอง” ครับ ผมมีความเชื่อว่า “เราจะเลิกนับถืออะไรก็ได้ แต่ห้ามเลิกนับถือตัวเองเด็ดขาด” ไม่ว่าจะทำถูกหรือทำผิดมีความสุขหมดจากสิ่งที่ตัวเองทำ ผิดก็ดีถูกก็ดี ไม่โทษตัวเองซ้ำๆ ไม่ใช่คนประเภทที่จะมาคิดว่าฉันไม่น่าทำแบบนี้เลย ถ้าวันนั้นฉันไม่ทำแบบนั้นวันนี้ฉันก็คงจะไม่มาเสียใจอะไรประมาณนี้ เพราะทุกครั้งที่ผมเดินทางผิดมันเป็นประสบการณ์สำหรับผมนะ จะได้เรียนรู้ว่าจะได้ไม่เดินมาทางนี้ “คนเรานับถืออะไรทุกอย่าง แต่ก็อย่าลืมทำตัวเองให้น่านับถือด้วย ไม่ใช่หลับหูหลับตานับถือตัวเองมันก็ไม่ใช่”


AMUNO : อีก 20-30 ปี เราจะเห็นพี่เบิร์นทำอะไรอยู่ที่ไหน?

พี่เบิร์น : ผมชอบคำถามนี้นะ พอถึงตอนนั้นผมก็น่าจะอายุสัก 60-70 ปี เป็นช่วงอายุที่คนส่วนใหญ่เขาเกษียณตัวเองจากการทำงานกันแล้ว ซึ่งคนส่วนใหญ่มักคิดว่าพออายุเยอะๆแบบนั้นเราต้องหยุดอยู่บ้านสิ รดน้ำต้นไม้ ปลูกผักสวนครัว นอนดูทีวี แต่เชื่อไหมว่าพอเราได้อยู่แบบนั้นปุ๊ป! เราจะแก่เลยนะ! ไม่ได้ใช้สมองคิดอะไร ร่างกายไม่ได้ออกกำลัง มันก็แก่ทันทีเลย

ถ้าถามว่าเมื่ออายุถึงตอนนั้นจะทำอะไร ขอตอบเลยว่าผมก็ยังทำงานแบบนี้อยู่นะทำแบบที่ทำทุกวันนี้เลย แต่ผมจะดูแลสุขภาพตัวเองตั้งแต่วันนี้สมดุลชีวิตให้ได้ สนุกกับงานประมาณหนึ่งแล้วก็รู้จักพอ สร้างคนรุ่นใหม่ๆขึ้นมา ทุกวันนี้ที่ผมไม่ได้เข้าโรงเรียนหรือบริษัททุกวันนะครับ ผมตั้งใจให้มันเป็นแบบนั้น ผมไม่อยากมีอำนาจมากถึงขนาดที่ว่าจะทำอะไรๆทุกคนต้องมารอให้ผมตัดสินใจ แต่ผมสร้างให้คนหนึ่งเป็นหัวหน้าอีกคนหนึ่งให้เป็นระบบ องค์กรมันก็จะเดินต่อไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งเมื่อพผมตายไปองค์กรตรงนี้ก็ยังอยู่ เพราะผมสร้างเบิร์น2 เบิร์น3 ไว้รอแล้ว ตรงนี้คือประเด็นเลย ทำงานแบบมีความสุข ปลูกโปเจคดีๆไว้ เดี๋ยวก็มีคนต่อยอดสิ่งดีๆเหล่านี้ให้มันยิ่งใหญ่ขึ้นไปเอง

ผมขอยกตัวอย่างสั้นๆด้วยเรื่องของสตีฟ จ๊อบส์ เป็นเรื่องในช่วงก่อนที่เขาจะเสียชีวิต สตีฟ จ๊อบส์ เป็นคนที่จริงจังกับงานมาก เป็น Perfectionist ถึงขั้นที่ว่าจะเปิดโชว์รูมใหม่ต้องเดินทางดูคนงานปูกระเบื้องด้วยตัวเอง ถามว่าคนที่เป็น CEO ระดับโลกจำเป็นต้องไปดูไหม? ไม่จำเป็นเลย ให้ใครไปดูก็ได้ สตีฟ จ๊อบส์ เคยเขียนไว้ว่า ถ้าเขาย้อนเวลากลับไปได้ เขาจะไม่ทำแบบนั้น เขาจะมีเงินประมาณหนึ่งแล้วกลับมาดูแลสุขภาพตัวเอง กลับไปดูแลครอบครัว ผมเชื่อว่าก่อนที่เขาจะตายเขายังมีโปรเจคอีกมากมายอยู่ในหัวของเขาหรือกำลังพัฒนามันอยู่ แต่กลายเป็นว่านวัตกรรมของโลกสูญหายไปพร้อมเขาหมดเลย มันก็เลยตอบถามหนึ่งได้ว่าชีวิตคืออะไร ชีวิตคือการเกษียณหรอ? หรือบ้างานขนาดนั้นหรอ? สำหรับผมคำตอบคือไม่ใช่

 

"If you want to be like someone, you need to learn from them.

If you want to be yourself, you need to learn from yourself"

"อยากเป็นอย่างใคร ให้เรียนรู้จากคนนั้น อยากเป็นตัวของตัวเอง จงเรียนรู้จากตนเอง"

 

หลังจากได้พูดคุยกับพี่เบิร์นทำให้ได้ข้อคิดข้อหนึ่งว่า “ไม่ว่าเราต้องการจะสร้างสรรค์อะไรเราก็สามารถสร้างสรรค์มันขึ้นมาได้ สิ่งที่มีพลังมากกว่าเงินทุนหรือปัจจัยภายนอกนั้นก็คือ ความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่เข้มแข็งที่มีอยู่ภายในจิตใจของเราเอง” เพราะพี่เบิร์นได้พิสูจน์มาแล้วว่าหากไม่ยอมแพ้ง่ายๆต่ออุปสรรค์ใดๆและมีความทุ่มเทให้กับทุกความตั้งใจก็จะสามารถเอาชนะปัญหาและอุปสรรค์ทุกอย่างไปได้

ปัจจุบันโรงเรียนสอนศิลปะและการออกแบบ artHOUSE มีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพทางด้านงานศิลปะให้กับเยาวชนไทยมาแล้วหลายต่อหลายรุ่น และอีกสิ่งหนึ่งที่น่าภาคภูมิใจนั่นก็คือการได้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของน้องๆในการสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยที่มีคณะและสาขาวิชาต่างๆทางด้านศิลปะได้สำเร็จติดต่อกันในทุกๆปี จากความสำเร็จในครั้งนี้ได้ต่อยอดไปสู่อีกความสำเร็จหนึ่งนั่นก็คือการเปิดแบรนด์เครื่องเขียน “เกเร” ที่มีคาแลคเตอร์ที่ชัดเจน อีกทั้งยังมีกระบวนการคิดที่สร้างสรรค์และแรงบันดาลใจที่น่าประทับใจ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมาจากความมุ่งมั่นที่เข็มแข็งและแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลังมาจากข้างในใจของพี่เบิร์นและหวังว่าเรื่องราวของพี่เบิร์นนี้จะเป็นอีกพลังหนึ่งในการขับเคลื่อนแรงบันดาลใจของเยาวชนไทยต่อไป

AMUNO

© Copy Right artHOUSE Institute, All Rights Reserved.

ไม่อนุญาติให้นำบทความไปดัดแปลง, เขียนใหม่, หรือนำไปเผยแพร่ในที่สาธารณะโดยไม่ใส่เครดิตหรือได้รับอนุญาติ

ดู 226 ครั้ง
bottom of page