top of page
  • รูปภาพนักเขียนArthouse School

Fashion RUSH HOUR เบื้องหลังคอร์สแฟชั่นเร่งรัดที่ทำให้น้องๆที่รู้ตัวช้า "เอนท์ติด" ทุกปี


" พี่คะ หนูอยู่ชั้น ม.6 แล้ว แต่หนูจะสอบเข้าแฟชั่นปลายปีนี้

หนูจะเตรียมตัวทันมั้ยคะ T___T "

นี่คือคำถามยอดฮิตที่เด็กๆที่อยากเข้าสาขาแฟชั่นมาปรึกษาทางโรงเรียนอยู่เสมอ

ส่วนมากจะรู้ตัวช้า และรู้ตัวอีกทีคือจะสอบภายในไม่กี่เดือนแล้ว

 

คอร์ส "Figure Fashion RUSH HOUR" หรือที่น้องๆเรียกกันว่า "RUSH HOUR" นั้น

เป็นอีกคอร์สสำคัญในโรงเรียนอาร์ตเฮ้าส์ เพราะลายเซ็นการสอนที่กระชับ ความรู้แน่น และเวลาเร่งรัด

สอนโดย "ครูแคท" คริษฐา ประจันตะเสน ที่ทำให้นักเรียนที่มีเวลาน้อย หรือรู้ตัวช้า เอนท์ติด ทุกปี ทุกรุ่น


วันนี้เราจะมาแนะนำเบื้องหลังของคอร์ส Fashion RUSH HOUR มาให้อ่านกัน :)

 

Q ; คอร์ส Fashion RUSH HOUR คืออะไร ?

"เป็นคอร์สฝึกวาด Figure Fashion เวอร์ชั่นรวดเร็วตามชื่อเลย คือเน้นระยะเวลากับวันที่จำกัด จะกระชับหน่อย ใช้เวลาราว 12-16 สัปดาห์ หรือสั้นกว่านั้น แล้วสัปดาห์นึงเรียนเฉพาะวันอาทิตย์ ถ้าคนที่มีเวลาน้อย เช่น เรียนได้เฉพาะวันหยุด หรือเป็นน้องๆ ม.5 เทอมปลาย น้องที่ขึ้นม.6 จนถึงน้องม.6 โค้งสุดท้าย ก็เป็นคอร์สที่น่าจะเหมาะกับน้อง เพราะจะเข้มข้นหน่อย จะมีการบ้าน ฝึกจับเวลา ทดลอง น้องต้องฮึบนิดนึง"


Q ; คนแบบไหน เหมาะที่จะเรียนแฟชั่น

"คนที่ชอบคิดสร้างสรรค์ น้องๆ อาจจะเริ่มจากการที่เป็นคนชอบวาด ขีดเขียน มีไอเดีย อยากสร้างสรรค์ หรือเป็นคนสนใจงานศิลปะ ชอบงานดีไซน์ แล้วน้องลองตีกรอบดูว่าสนใจอะไร ถ้าคำตอบคือ เป็นแนวแฟชั่น เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้า เครื่องประดับ มองเห็นว่าคนน่าจะแต่งตัวแบบนั้นแบบนี้ มีคาแรคเตอร์ยังไง อย่างนี้ น้องเหมาะจะเรียนแฟชั่น"


Q ; ตอนติวกับตอนเข้าไปเรียนแฟชั่นจริงๆ ต่างกันยังไง

"ตอนติว การเรียนรู้จะใกล้ชิดหน่อย เป็นแบบพี่กับน้อง พี่ๆ ให้คำแนะนำใกล้ชิด ถามตอบกันได้ตลอดที่เรียน พอเรียนในมหาลัยจริงๆ จะต่างออกไป อาจารย์จะเน้นให้เราเรียนรู้โดยการทำโปรเจคต์ ลองผิดลองถูกไปตลอดเทอมจนได้สำเร็จโปรเจคต์นั้น โดยอาจารย์จะคอยให้คำปรึกษาแนะนำ ในแบบที่ปรึกษา ฝึกให้เรียนรู้ ก็จะจริงจังไปอีกแบบ"


Q ; จบแฟชั่นเป็นอาชีพอะไรได้บ้าง

"ได้หลายอย่างนะ ถ้าตรงสายหน่อย ก็ Designer, Stylist ถ้าเฉพาะทางขึ้นไปอีก ก็ยังแยกแยะได้เป็น Designer เสื้อผ้า, Designer รองเท้า, Designer กระเป๋า -- ถ้าจบไป ทำงาน เรียนต่อปริญญาโท หรือเอาแฟชั่นไปบวกกับทักษะอื่นๆ ที่ตัวเองมี ก็จะพบอีกว่ามีอาชีพอีกหลายๆ อย่างในวงการนี้ให้ทำ"


Q ; อยากเข้าแฟชั่น ต้องเตรียมตัวสอบยังไง

"น้องควรเตรียมตัวทั้งด้านความรู้วิชาการ (วิชาทฤษฎีต่างๆ หรือวิชาสามัญที่มหาลัยจะกำหนดมา) และความถนัดเฉพาะทาง (ก็ดีไซน์นี่แหละ) ลองควรเตรียมความพร้อม ฝึกดีไซน์ให้มาก หลากหลาย หมั่นประเมินคุณภาพงานของตัวเอง พัฒนาเรื่อยๆ ส่วนวิชาการเตรียมอ่านแต่เนิ่นๆ พวกวิชาสามัญต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ หรือกระทั่งความรู้เฉพาะทางด้านศิลปะการออกแบบ เตรียมตัวแต่เนิ่นๆ เลย น้องจะได้ไม่เครียดตอนช่วงใกล้สอบ (บางมหาลัย มีจัดสอบวาดเส้นด้วยนะ อันนี้ก็ควรฝึกไว้เหมือนกันล่ะ)"


Q : TREND กับ TASTE ต่างกันยังไง

"ต่างกันที่เวลานะ เทรนด์เป็นเรื่องของแนวนิยม ณ เวลาช่วงนั้นๆ มันให้อะไรใหม่ๆ สนุกดี แต่พอเวลาเปลี่ยน เทรนด์ก็เปลี่ยนแล้ว เทรนด์เก่าก็เบื่อไปแล้ว คนเราก็สนใจสิ่งถัดๆ ไป ส่วนรสนิยมเป็นเรื่องของความชอบ ชอบยังไง ก็ชอบยังงั้น จริงๆ เรามองว่ารสนิยมเป็นเรื่องความชอบเฉพาะตัว --- ส่วนเรื่องจะปรับใช้ อันนี้ก็พูดกับน้องในคลาสบ่อยๆ เหมือนกันว่า ให้น้องรวบรวมความชอบในสิ่งต่างๆ แล้วลองสื่อสารออกมา เล่าให้ฟัง โชว์เป็นผลงาน ลองออกแบบดู พี่จะได้เป็นเห็นตัวตน รสนิยม สิ่งที่น้องชอบ แต่เวลาที่ออกแบบ ก็ต้องไม่ลืมว่ามีเรื่องของความนิยม ณ เวลานั้นๆ ด้วย ถ้าไม่ทันสมัย งานก็เชยได้เหมือนกันนะ"


Q ; เล่าความรู้สึกตอนเด็กที่เราสอนเอนท์ติดกันหน่อยว่าเป็นยังไง

"ดีใจ เหมือนยกภูเขาออกจากอก (พวกเธอคือภูเขาของฉัน!) ฮ่าๆ ไม่ใช่หรอก เรารู้สึกว่าเราดีใจกับน้องมากๆ ที่น้องสามารถทำสิ่งที่ตัวเองคาดหวังได้สำเร็จ แม้เป็นก้าวแรก แต่เป็นก้าวที่สำคัญของน้อง ทุกปีน้องๆ จะส่งข้อความหรือมาหาที่โรงเรียน มาบอกข่าวดี ว่า “พี่แคททท หนูติดแล้วนะ” ดีใจมากๆ บางครั้งก็จัดปาร์ตี้ขนมนมเนยกันในคลาส ร่วมยินดี เฮ !

คนที่ยินดีกับข่าวดีของน้องก็ไม่ได้มีแค่พี่แคทนะ ยังมี พี่บอส พี่กี๊ฟ พี่เบิร์น ที่ยินดีกับน้องๆ เพราะพี่ๆ ทุกคนเป็นส่วนสำคัญในคลาสเรียนแฟชั่นอีกหลายคลาสที่น้องได้เจอ แล้วก็คนที่มีส่วนสำคัญที่สุด ก็คือน้องเองนั่นแหละ เพราะน้องพยายามตั้งใจ และไม่ย่อท้อ ถึงสำเร็จได้"


Q ; ครูแคทสอนมากี่ปีแล้ว

"เกือบจะ 6 ปี เต็มๆ แล้วนะ เผลอแป๊ปเดียวเอง ที่ยังสอนอยู่ เพราะว่าสนุกที่ได้ทำ พอเจอน้องๆ แล้ว เรามีพลัง ได้แลกเปลี่ยนไอเดีย พูดคุย เรามีความสุขตอนที่ได้ดูการพัฒนาฝีมือ เห็นทักษะที่ดีขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นหลายๆ ครั้งที่น้องมาเรียน น้องก็จะมาพร้อมข้อสงสัยใหม่ๆ ข่าวสารใหม่ๆ มาถาม เทคนิคการวาดใหม่ๆ มาขอให้สอน เราเองก็สนุก ได้ลับฝีมือเรื่อยๆ"

Q ; ความคาดหวังที่มีต่อน้องๆที่จะเรียนคอร์สนี้

"ความคาดหวังคือการอยากให้ลอง ลองทำ ลองผิด ลองถูก แล้วก็ห้ามพูดว่า “หนูทำไม่ได้หรอก” อย่าเพิ่งด่วนตัดสินตัวเอง พี่ให้กำลังใจน้อง อยากให้น้องเชื่อมั่นในตัวเอง เริ่มต้นยังไม่ดี ไม่เป็นไร ลองใหม่ ไม่ไหวก็พักสักครู่ ให้สมองโปร่ง แล้วก็ลุยต่อ ถ้าน้องเชื่อว่าตนเองทำได้ แล้วลงมือ สู้ น้องก็จะทำได้"


Q ; คำแนะนำที่อยากจะพูดกับนักเรียนที่กำลังคิดอยากเอนท์แฟชั่น

"จริงๆ ทุกคนมีการเริ่มต้นทั้งนั้น น้องบางคนจะเกร็งว่าตัวเองไม่มีทักษะเลย วาดรูปไม่สวย เราจะบอกว่ามันฝึกให้ดีขึ้นได้นะ คือขอให้กล้าลอง อย่ากลัว ผิดก็ไม่เป็นไร ลองใหม่หลายๆ วิธี น้องจะกลัวว่างานต้องออกมาไม่สวยแน่เลย แล้วก็พลอยให้ไม่กล้าลงมือ จริงๆ น้องไม่ต้องกังวล ตอนที่หนูลงมือ ยังไงพี่ก็คอยดู ช่วยทักข้อเด่น ข้อด้อย น้องพัฒนาขึ้นได้"

ถ้าน้องชอบ ลองศึกษา หาข้อมูลเยอะๆ มั่นใจ แล้วลงมือลุยเลยค่ะ ห้ามรอช้า สู้ !

 

คริษฐา ประจันตะเสน ( ครูแคท )

- ศิษย์เก่าวิชาแฟชั่น artHOUSE

- จบจาก คณะ ศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชานฤมิตศิลป์ เอกแฟชั่นและสิ่งทอ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

- ครูประจำสถาบัน artHOUSE ตั้งแต่ 2011 – ปัจจุบัน

- แข่งขันออกแบบเครื่องแต่งกายแฟชั่น ของนิตยสาร Harper’s Bazaar ปี 2013 : Asia New Generation Fashion Designer Award คอร์สที่สอน - Figure Fashion Rush Hour สอนตั้งแต่ช่วงปี 2011 ประสบการณ์การสอนเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ ครั้งที่เข้าคลาสสอน เราจะรู้สึกถึงไฟในความกระตือรือร้นที่จะรับสิ่งใหม่ๆ จากน้องๆ เสมอ เห็นความสามารถของน้องที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เห็นข้อสงสัยของพวกเขาที่มีต่อเรื่องต่างๆ สิ่งเหล่านี้หล่อรวมให้การเป็นการพัฒนาเนื้อหาและวิธีการสอนของเราอยู่เสมอๆ เช่นกัน ดังนั้นวิธีการสอนจึงมีความสดใหม่ ความใส่ใจ มีการประยุกต์ให้ทันสมัย และมีการปรับให้เข้ากับวิธีการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนด้วย ในคลาสเรียน น้องๆ จะได้เรียนรู้ศิลปะด้วยกัน เหมือนเรียนกับคนใกล้ชิด เรียนกับที่บ้าน เป็นกันเอง สนุกสนาน เฮฮา

 

ปรึกษาเกี่ยวกับการเรียน FASHION ได้ที่เบอร์ 087-685-1313

 

© Copy Right artHOUSE Institute, All Rights Reserved.

ไม่อนุญาตให้นำบทความไปดัดแปลง, เขียนใหม่, หรือนำไปเผยแพร่ในที่สาธารณะโดยไม่ใส่เครดิตหรือได้รับอนุญาติ


ดู 286 ครั้ง
bottom of page