top of page
  • รูปภาพนักเขียนArthouse School

Interview : พี่กีฟ ดราภดา โสตถิวันวงศ์


เมื่อพูดถึงวิชา Fashion Design ที่ artHOUSE หลายคนก็คงคิดถึง พี่กีฟ ดราภดา โสตถิวันวงศ์ คุณครูประจำคลาส Figure Fashion ที่มีดีกรีเป็นถึงเจ้าของตำแหน่ง Thai Supermodel 2008 และนักแสดงในสังกัดช่องเจ็ดสี ด้วยบุคลิกส่วนตัวที่มองดูเผินๆแล้วน้อยคนนักที่จะเชื่อว่าเป็นคุณครู เราเลยชวนพี่กีฟมาพูดคุยเพื่อทำความรู้จักกับพี่กีฟให้มาขึ้น รวมไปถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นคุณครูสอน Fashion ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร


 

AMU : พี่กีฟเป็นคุณครูที่ artHOUSE มากี่ปีแล้ว?

พี่กีฟ : ปีนี้(2559) น่าจะเข้าปีที่ 10 แล้วนะคะ กีฟเป็นคนเริ่มต้นคลาสแฟชั่นดีไซน์ในโรงเรียน พอดีช่วงนั้นมีโอกาสได้รู้จักกับพี่เบิร์นผ่านรุ่นพี่ที่สนิทในแฟชั่นโชว์งานหนึ่ง พอรู้ว่าพี่เบิร์นเปิดโรงเรียนก็เลยถามว่าที่โรงเรียนมีคลาสอะไรบ้าง ตอนนั้นที่ artHOUSE ยังมีคลาสแฟชั่นดีไซน์ พี่เบิร์นเลยชวนให้มาลองสอนดูไหม เราก็ลังเลพอสมควรนะ เพราะดูจากบุคลิกเราแล้วไม่น่าสอนใครได้ แต่ก็คิดว่ามันก็ไม่ได้เสียหายอะไรเลย ถ้าทำแล้วมันออกมาไม่ดีก็แค่เลิกทำก็แค่นั้น ก็เลยมานั่งคุยกันเรื่องหลักสูตรว่าต้องสอนอะไรบ้าง ก็เริ่มจากที่กีฟสอนวาดฟิกเกอร์ (Figure Fashion) มีเพื่อนกับรุ่นน้องที่เรียนแฟชั่นจุฬาฯเป็นทีมสอนกระบวนการออกแบบทั้งหมด แล้วก็ค่อยๆพัฒนาหลักสูตรให้เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆจนถึงปัจจุบันค่ะ

AMU : ช่วงเริ่มต้นการสอนเป็นอย่างไรบ้าง?

พี่กีฟ : โอ้โห!ตื่นเต้นมากค่ะ พูดจาติดๆขัดๆ กลัวไปหมดเลยว่าพูดไปแล้วนักเรียนจะเข้าใจไหม กีฟไม่เคยออกไปยืนหน้าห้องแล้วมีคนจับจ้องมาที่เราเยอะขนาดนี้ (แล้วมันต่างจากการออกไปยืนนำเสนองานหน้าห้องเรียนหรือเดินแฟชั่นโชว์ไหม? ที่ใครๆก็มองมาที่เรา) ต่างกันนะคะ มีความตื่นเต้นคนละแบบเลย นำเสนองานก็ตื่นเต้นอีกแบบ เดินแฟชั่นโชว์ก็ตื่นเต้นไปอีกแบบ ซึ่งมันไม่ตื่นเต้นเท่าการมีเด็กนักเรียนมานั่งจ้องเรา หรือตั้งใจฟังทุกอย่างที่เราพูดน่ะคะ มันเลยทำให้เรายิ่งกดดัน กีฟก็พยายามทำแผนการสอนมาให้ดีที่สุด เพื่อจะได้รู้ว่าเราต้องพูดเรื่องอะไรก่อนอะไรหลัง แต่เรื่องทักษะหรือฝีมือในการวาดเราไม่ค่อยกังวลเลยค่ะ เพราะตอนเรียนที่แฟชั่นจุฬาฯ เรามีทักษะการวาดฟิกเกอร์กับแฟลต (Flat Pattern) สวยเป็นอันดับต้นๆในรุ่น (ภูมิใจๆ) ก็เลยคิดว่าการที่เราจะวาดให้เขาดูมันไม่ยากหรอกเพราะเป็นสิ่งที่เราถนัด กีฟเลยคิดว่าอย่างน้อยฝีมือเราก็ไม่เลว แล้วไอ้ที่เรากลัว เรากลัวไปเองหรือเปล่า? ก็เลยค่อยๆวาดค่อยๆอธิบายไป ทักษะในด้านการสอนมันก็มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งประมาณปี 2553 แฟชั่นดีไซน์ จุฬาฯ เปิดรับนิสิตใหม่แค่ 5 คน ซึ่ง 5 คนนั้นเป็นนักเรียน artHOUSE ทั้งหมดเลย มันก็เป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยสนับสนุนความมั่นใจในฝีมือการสอนของเรา ก็เลยเป็นจุดที่ทำให้เราก้าวข้ามเส้นความกังวลทั้งหมดมาได้


(ผลงาน Figure Fashion ของพี่กีฟ)


AMU : ตอนเด็กๆเคยมีความฝันอยากเป็นคุณครู นางแบบ หรือดาราไหม?

พี่กีฟ : ความฝันของเด็กๆมันก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมแล้วก็ยุคสมัยในตอนนั้นนะคะ เพราะเราจะ Inspire กับอาชีพต่างๆที่อยู่รอบๆตัวเราในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นคุณครู พยาบาล คุณหมอ หรืออะไรต่างๆ ส่วนตัวกีฟเองมีความใกล้ชิดกับคุณครูค่ะ ก็เลยคิดว่าโตขึ้นก็อยากเป็นคุณครู ดารากับนางแบบตอนนั้นไม่มีอยู่ในหัวเราเลยค่ะ (คุณครูน่าเป็นตรงไหน?) น่าเป็นนะคะ น่าสนุกจะตาย ยื่นพูดยื่นเขียนกระดานหน้าห้องเรียน นั่งตรวจการบ้าน ทำโน่นทำนี่ ไม่ว่าจะคุณครูจะทำอะไร น้องกีฟอยากทำหมดเลยค่า(หัวเราะ) แต่พอเราเริ่มโตขึ้นความฝันมันก็เริ่มเปลี่ยนไป ซึ่งมันจะไม่ได้มาจากสภาพแวดล้อมหรือว่ายุคสมัยแล้วค่ะ แต่มันจะมาจากวิถีชีวิตที่เราเติบโตขึ้นมาจากสิ่งที่เราค่อยๆเรียนรู้ แต่ก็ไม่เคยคิดนะคะว่าวันหนึ่งเราจะได้มาเป็นคุณครู มายืนสอนหน้าห้อง ยืนเขียนกระดาน นั่งตรวจการบ้าน อธิบายงานให้เด็กนักเรียนฟัง เหลือแค่ยืนถือไม้เรียวกับตีเด็กดื้อหน้าห้องเรียนค่ะ ที่ยังไม่ได้ทำแบบคุณครู(หัวเราะ)


AMU : เพราะได้เข้ามาเรียนแฟชั่นดีไซน์ จุฬาฯ เลยเป็นจุดที่ทำให้เจออาชีพนางแบบ?

พี่กีฟ : ค่ะ พอมาเรียนจริงๆกีฟก็เริ่มจับทางชีวิตตัวเองได้ค่ะ อย่างที่บอกไปว่าถ้าให้วาด เราวาดเก่งนะ แต่ไม่ได้มีความสุขกับการออกแบบเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ ตอนนั้นเลยไม่ได้โฟกัสที่อาชีพดีไซเนอร์ บวกกับในคณะถ้าคนไหนขายาวๆรุ่นพี่จะจับมาเดินแบบหมด เพราะว่าภาควิชาแฟชั่นฯของเราต้องการทรัพยากรบุคคลที่ตัวสูงๆขายาวๆมาใส่ชุดให้รุ่นพี่ ในจุดนี้มันก็เลยเป็นหนทางที่พาเราไปเจอกับเส้นทางอีกเส้นหนึ่งที่ถือได้ว่าเปลี่ยนชีวิตพี่เลยนะคะนั่นก็คือการเป็นนางแบบ

AMU : เพราะอะไรถึงตัดสินใจเข้าร่วมประกวด Thai Supermodel 2008

พี่กีฟ : ทำงานมาได้สักระยะหนึ่งแล้วค่ะ ตอนนั้นงานก็ถือว่าเยอะพอสมควร แต่จริงๆแล้วกีฟไม่ได้ตั้งใจจะไปประกวดนะคะ กีฟตามเพื่อนไปค่ะ(หัวเราะ) ก็เดินไปสมัครด้วยกัน เข้ารอบมาด้วยกัน



(คลิปวีดีโอการประกวด thai supermodel 2008 รอบตัดสิน ผู้ชนะ กีฟ อรลีฬห์ โสตถิวันวงศ์ )

ในรอบเก้าคนสุดท้ายกีฟมีความหวังลึกๆเหมือนค่ะว่าที่หนึ่งน่าจะเป็นเรา แต่อยู่ๆมันก็มีความคิดที่ว่าอาจจะไม่ใช่เราก็ได้เพราะตอนนั้นทุกคนมีความเป็นไปได้หมดเลย จนกระทั่งตอนที่เดินออกมาพร้อมๆกันแล้วชื่อที่ประกาศเป็นชื่อเรา ตอนนั้นแหละค่ะ! มันเป็นความรู้สึกที่พูดอธิบายไม่ถูกเลย อยู่ๆเราก็เข้าใจความรู้สึกของนางงามที่ได้มงกุฏขึ้นมาซะอย่างนั้น(หัวเราะ) (ได้ตำแหน่งมาชีวิตหลังรับตำแหน่งเป็นอย่างไรบ้าง) เปลี่ยนตั้งแต่ที่ลงจากเวทีในคืนนั้นเลยค่ะ งานสัมภาษณ์ก็มา งานออกรายการจ่อรอเราเต็มไปหมด แล้วก็ ก่อนที่เราจะได้ตำแหน่งเราได้งานเดินแบบแค่อย่างเดียว หลังได้ตำแหน่งก็มีงานถ่ายแมกกาซีนเข้ามาด้วย และที่สำคัญคือช่วงที่ได้ตำแหน่งแรกๆมีงานเข้ามาหากีฟเยอะมาก


AMU : ช่วงนั้นงานในวงการแฟชั่นน่าจะเยอะพอสมควร มีผลกระทบกับตารางการสอนหรือเปล่า?

พี่กีฟ : มีมากระทบเรื่อยๆนะคะ แต่กีฟไม่เคยทิ้งงานสอนเลยนะคะ ถ้าตารางสอนคลาสไหนมันชนกับตารางานนางแบบจริงๆก็จะมีคุณครูคนอื่นในทีมดูแลแทน ถ้าเสร็จงานเร็วก็จะรีบกลับมาดูนักเรียนต่อ แต่ไม่เคยทิ้งแบบหายหน้าตาไปเลย ไม่เคยเลย เคยคิดจะลองไปทำที่ต่างเทศเหมือนกัน แต่เรารู้ว่าถ้าเราทิ้งไปมันไม่มีใครมาแทน แล้วจะทำอย่างไรกับนักเรียนอีกหลายคนที่เขารอจะมีอนาคตกับเรา ก็เลยต้องเลือกส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ก็เลยอ่ะๆ ช่างมัน เดินแบบอยู่ที่ไทยก็ได้(หัวเราะ) จนกระทั่งทุกวันนี้มาเป็นนักแสดงแล้วเราก็ไม่เคยทิ้งงานสอน ก็เพิ่งรู้ตัวเหมือนกันว่าเราจริงจังกับการสอนมากขนาดนี้ เพราะภาพที่คนในกองถ่ายเห็นกันบ่อยมากก็คือเราหอบการบ้านของนักเรียนไปตรวจที่กองถ่ายเป็นประจำ จนคนที่กองเขาถามว่า นี่แกนั่งทำอะไรอ่ะ(หัวเราะ) ไม่ใช่แค่ที่กองละครนะคะ เวลารับอีเวนท์หรืองานเดินแฟชั่นโชว์เราก็หอบไปตรวจด้วยตลอด ถ้าไม่หอบงานไปตรวจแล้วรอกลับมาตรวจที่บ้านไม่มีทางตรวจการบ้านนักเรียนทั้งหมดทันแน่ๆ ช่วงนั้นก็ดูวุ่นวายเล็กๆ แต่ไม่เคยรู้สึกว่ามันเป็นปัญหาเลยนะคะ มันกลับทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตเรามีคุณค่าบางอย่างมากกว่าการที่เราเอาเวลาไปทำอย่างอื่น


AMU : พี่กีฟสอนที่ artHOUSE มานาน และดูทุ่มเทให้กับการสอนมากๆ อยากให้พี่กีฟพูดถึงจุดแข็งหรือจุดเด่นของคลาสแฟชั่นที่ artHOUSE หน่อย

พี่กีฟ : จริงๆแล้วตอนขอบอกก่อนนะคะว่าคุณครูที่ artHOUSE ในแต่ละวิชา เราคัดแต่ระดับท้อปๆมาทั้งนั้นค่ะ ทุกคนจะมีดีกรี รางวัล หรือประสบการณ์ต่างๆติดตัวมากันทุกคนค่ะ

คุณครูในทีมสอนวิชาแฟชั่นรวมไปถึงคุณครูทั้งโรงเรียนนั่นแหละค่ะ มีวิธีการสอนที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน(อยากให้ลองมาเรียนแล้วจะเข้าใจ) บางทีการสอนที่ค่อนข้างซอฟก็อาจจะไม่ช่วยกระตุ้นความพยามที่อยู่ภายใต้จิตสำนึกของนักเรียนออกมาได้ ทำให้บางคนมีความเฉื่อย หรือไปได้ช้ากว่าเพื่อน เพราะฉนั้นการที่ลักษณะการสอนที่หลากหลาย ดุบ้าง ตลกบ้าง กดดันบ้าง ตรงนี้มันก็จะไปกระตุ้นความรู้สึกบางอย่างในใจเขาว่า หรือเราอาจจะเป็นตัวถ่วงเพื่อน หรือเราจะพัฒนามากกว่านี้ มันก็เป็นการดึงข้อดีของเขาคนนั้นออกมา แต่ว่าการกระทำบางอย่างที่อาจจะดูร้ายกาจมันไม่ได้แสดงออกไปเพราะเกลียดนักเรียนนะคะ มันไม่มีเหตุผลตรงนั้นเลย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นวิธีการสอนแบบไหนมันคือการแสดงความรักที่แตกต่างกันของแต่ละคนค่ะ ซึ่งทุกสิ่งที่ทำมีจุดประสงค์เดียวก็คือ ส่งพวกเขาให้ถึงฝั่ง ดึงศักยภาพที่ดีของเขาออกมา คุณครูที่นี่ทุกคนมีความหวังดีต่อนักเรียนทุกคนค่ะกีฟมั่นใจ


AMU : สนิทกับน้องไหม?

พี่กีฟ : สนิทค่ะ ปัจจุบันก็ยังมีลูกศิษย์ที่เจอกันที่ไหนก็ยังทักทายกันอยู่ หรือเวลาไปชอปปิ้งลูกศิษย์เราก็จะแฝงอยู่ตามแบรนด์เสื้อผ้าต่างๆเวลาเจอก็จะทักทายกัน ยิ่งถ้าเราไปอุดหนุนแบรนด์ที่พวกเขาทำงานอยู่ก็จะได้รับการดูแลหรือบริการเป็นอย่างดี (มีเรื่องราวประทับใจไหม?) เรื่องที่ประทับใจส่วนใหญ่จะอยู่ใน

คลาสช่วงแรกๆเราจะมีการจำวันเกิดของกันและกัน มีการเอาเค้กวันเกิดมาเซอร์ไพซ์กันในคลาส เด็กๆเขาก็จะนั่งคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้เรากับพี่ๆคุณครูคนอื่นๆได้ฟังกัน มันทำให้เรารู้สึกว่าที่นี่ไม่เหมือนโรงเรียนแต่เหมือนอยู่บ้าน แล้วเราก็ไม่เหมือนคุณครูกับลูกศิษย์แต่เป็นเหมือนพี่น้องอยู่ด้วยกันแบบนั้น

เรื่องที่ประทับใจอีกเรื่องก็คือตอนที่พวกเขาสอบติดค่ะ เราดีใจเหมือนสอบเองทุกปีเลย ทุกครั้งที่พวกเขาได้ในสิ่งที่ตัวเองอยากได้หรือปรารถนา คนที่คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลังมันก็ต้องดีใจอยู่แล้ว เพราะว่าเราเห็นอนาคตไปพร้อมๆกับพวกเขา เหมือนช่วงเวลานั้นของพวกเขาก็เป็นช่วงเวลาของเราด้วยค่ะ


AMU : ในฐานะที่พี่กีฟเป็นทั้งคุณครู นางแบบ และนักแสดง อยากให้ฝากอะไรถึงน้องๆเยาวชนที่กำลังค้นหาตัวตนของตัวเอง

พี่กีฟ : ขอฝากเป็นข้อคิดละกันนะค่ะ กีฟคิดว่าเด็กสมัยนี้มีความสนใจในสิ่งที่ตัวเองชอบน้อยลงค่ะ มีเด็กส่วนใหญ่ที่รู้ตัวช้าว่าจริงๆแล้วตัวเองชื่นชอบหรือถนัดอะไร คือถ้ารู้ว่าถนัดอะไรแต่มาตั้งหลักฝึกฝนช้าไปหน่อย อันนี้ก็ถือว่ายังดีค่ะ ยังดีที่หาตัวตนจนเจอ เจอแล้วก็ใช้เวลาในการฝึกฝนมันไป แต่ถ้าไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้แม้กระทั่งสิ่งที่ตัวเราถนัด ก็ไม่อยากให้เครียดหรือมานั่งเค้นตัวเองเพื่อหาคำตอบนะคะ กีฟแนะนำให้น้องๆลองหาเรียนพิเศษอะไรเพิ่มเติมดู อาจจะเป็นศิลปะ เรียนดนตรี กีฬาหรือไม่ก็แสวงหากิจกรรมต่างๆเพื่อค้นหาตัวตนจริงๆของตัวเอง ถ้าเป็นเด็กต่างจังหวัดโอกาสบางอย่างอาจจะน้อยกว่าเด็กในกรุงเทพฯ อันนี้กีฟแนะนำให้ลองทำกิจกรรมในโรงเรียนเยอะๆค่ะ มันช่วยได้จริงๆนะ หรือลองออกไปดูอะไรในท้องถิ่นของตัวเองแล้วมีส่วนร่วมไปกับเขา กีฟว่ามันน่าจะสร้างแรงบันดาลใจอะไรขึ้นมาได้บ้างแน่นอน โดยรวมก็คืออยากให้เด็กๆสมัยนี้ใช้เวลาในการค้นหาตัวเอง และที่สำคัญควรวางแผนชีวิตในอนาคตไว้บ้างได้แล้ว เด็กสมัยใหม่จะคิดแค่ว่า ฉันทำวันนี้วันพรุ่งนี้คือพอใจแล้ว โลกเรายุคนี้การแข่งขันมันสูงค่ะ เราควรจะวางแผนอนาคตที่มันมีมากกว่าวันนี้วันพรุ่งนี้ได้แล้วค่ะ

 

หลังจากได้ฟังพี่กีฟเล่าเรื่องราวต่างๆ ทำให้เรานึกย้อนไปวันที่เราก้าวเข้ามาเรียน artHOUSE ในวันแรก ภาพผู้หญิงตัวสูงๆ ผอมๆ แต่งตัวสวยๆ ลุคนางแบบดูนิ่งๆ ยื่นสอนนักเรียนอยู่ที่ห้อง Fashion ชั้น 2 มองภายนอกดูเหมือนเป็นคนเข้าถึงยากและคิดว่าจะต้องดุแน่ๆ แต่ในทางกลับกัน ทุกถ้อยคำ ทุกกิริยา และแววตาที่แสดงออกมาทั้งหมดนั้นล้วนแต่แสดงถึงความเมตตาและจริงใจต่อนักเรียนทุกคน ภาพจำที่จำได้ขึ้นใจอีกภาพหนึ่งคือ หลังจากเสร็จงานถ่ายแบบหรือเดินแบบ พี่กีฟมักจะกลับมาสอนนักเรียนทั้งๆที่หน้ายังไม่ได้ลบเครื่องสำอางและผมยังไม่ได้แกะ และกลับมาสอนด้วยความสดชื่นอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้พี่กีฟจึงเป็นที่รักของนักเรียนในคลาสทุกคน

มาถึงตอนนี้พี่กีฟเป็นนักแสดงที่มีผลงานและแฟนคลับมากมาย เห็นได้จาก Instagram ของพี่กีฟ ที่นอกจากจะอัพเดทผลงานละครและอีเว้นท์ต่างๆแล้ว พี่กีฟมักจะดูแลเอาใจใส่แฟนคลับอยู่เสมอ และต้องยอมรับว่ากลุ่มแฟนคลับของพี่กีฟเหนียวแน่นและอบอุ่นเป็นอย่างมาก หากใครอยากติดตามความเคลื่อนไหวรวมไปถึงให้กำลังใจพี่กีฟ สามารถ Follow Instagram พี่กีฟได้ที่ลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่าง (พี่กีฟตอบทุกคอมเม้นด้วยนะ) และยังสามารถติดตามละครที่พี่กีฟแสดงและกิจกรรมต่างๆได้ทางช่องเจ็ดสีอีกด้วย

AMUNO

© Copy Right artHOUSE Institute, All Rights Reserved.

ไม่อนุญาติให้นำบทความไปดัดแปลง, เขียนใหม่, หรือนำไปเผยแพร่ในที่สาธารณะโดยไม่ใส่เครดิตหรือได้รับอนุญาติ

ดู 170 ครั้ง
bottom of page